ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า รับความหวังวัคซีนต้านโควิด-19

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 31.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (20/7) ที่ระดับ 31.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

หลังจากรัฐฟลอริดาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กว่า 12,000 ราย ทำสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 10,000 รายเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่รัฐเท็กซัสได้รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันที่ 19/7 อยู่ที่ระดับมากกว่า 7,300 ราย สำหรับยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐมีมากกว่า 140,000 ราย นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐฟลอริดา แคลิฟอเนีย รวมถึงรัฐทางตอนใต้และฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ได้ทำสถิติผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดในทุกวัน

ทั้งนี้เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (20/7) มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดได้มีเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้พัฒนากับอาสาสมัครจำนวน 1,077 คน พบว่าวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยและสามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้สำเร็จ โดยร่างกายของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนได้สร้างแอนติบอดีและเม็ดเลือดขาวที่สามารถต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยงานวิจัยนี้ทำให้เกิดความหวังในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะสรุปแน่ชัดว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันโควิด-19 ได้

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ เนื่องจากโครงการช่วยเหลือคนว่างงานของสหรัฐ หรือมาตรการจ่ายเงิน 600 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์ สำหรับผู้ว่างงานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.66-31.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 1.1460/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (20/7) ที่ระดับ 1.1454/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ผู้นำสหภาพยุดรป (EU) ได้มีการบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรแล้ว เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การประชุมผู้นำ EU ครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (20/7) จนกระทั่งทุกฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในวันนี้ โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU ในวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร ผ่านการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือตกต่ำมากที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจ Great Depression

โดยนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารส่วน EU เป็นผู้ประกาศความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว โดยเขาได้ทวีตข้อความสั้นๆ ว่า “Deal !” พร้อมทั้ง นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน กรรมาธิการ EC ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU ได้ทวีตข้อความเป็นเชิงส่งสัญญาณในช่วงเช้าวันนี้ว่า “หลังจากที่การเจรจาอันเข้มข้นผ่านพ้นไปเป็นเวลาหลายวัน ก็ถือเวลาแล้วที่จะต้องมีการประนีประนอมกันอย่างสร้างสรรค์ พลเมืองยุโรปกำลังรอคอยแผนฟื้นฟูฉบับนี้และทั่วโลกกำลังจับตา

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1421-1.1469 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1438/42 ดลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 107.15/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (20/7) ที่ระดับ 107.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงเช้าที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (PCI) พื้นฐานที่ประจำเดือนมิถุนายนทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งปรับตัวดีขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ -0.2%

แต่อย่างไรก็ดี ดัชนี CPI พื้นฐานได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ปรับตัวลงติดต่อกัน 2 เดือนก่อนหน้านี้ โดยในรายงานระบุว่า การที่ดัชนี CPI พื้นฐานหยุดการปรับตัวลงในเดือนมิถุนายนนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะราคาน้ำมันเบนซินได้ปรับราคาลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ดัชนี CPI พื้นฐานยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ที่ 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.10-107.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน มิ.ย.จากเฟดชิคาโก (21/7) ดัชนีราคาบ้านเดือน พ.ค. (22/7) ยอดขายบ้านมือสองเดือน มิ.ย. (22/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (23/7) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.จาก Conference Board (23/7) ดัชนีจัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ค. จากมาร์กิต (24/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ค.จากมาร์กิต (24/7) ยอดขายบ้านใหม่เดือน มิ.ย. (24/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.25/3.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ