กฎหมายภาษีสะดุดยกแผง เก็บรายได้ 11 เดือนหลุดเป้า

ขุนคลังสุดเซ็งกฎหมายภาษีสะดุดยกแผง “ภาษีอีคอมเมิร์ซ-ลาภลอย-ภาษีที่ดิน” ค้างเติ่ง หลังประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญ ม.77เผยระบบภาษีไทยรูรั่วเพียบ-ต้องเร่งปิด ตัวเลขจัดเก็บรายได้รัฐ 11เดือนแรกแป้ก “สรรพากร-ศุลกากร” วืดเป้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การเสนอกฎหมายเรื่องภาษี ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ต้องเปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เวลาเสนอกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องภาษีจะเป็นความลับเปิดเผยก่อนไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และมีผลกระทบในแง่การกักตุนสินค้า

“มาตรา 77 วรรค 2 บอกให้ทุกอย่างต้องทำประชาพิจารณ์ การที่รัฐจะเก็บภาษีจะไปประชาพิจารณ์ ผมก็ไม่แน่ใจว่า กฎหมายฉบับไหนจะผ่านได้ ซึ่งตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงเหมือนกัน แล้วก็ไม่มีประเทศไหนทำแบบนี้กัน” นายอภิศักดิ์กล่าว

กฎหมายภาษีสะดุดหลายฉบับ

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า การทำประชาพิจารณ์ตามมาตรา 77 ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเว้นแต่เกิดกรณีที่ต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ทำให้กฎหมายภาษีของคลังหลายฉบับที่เสนออยู่ขณะนี้สะดุดไปหมด

“ร่างกฎหมายภาษีของคลังหลายฉบับ ตอนนี้กระเด้งกระดอนไปหมด ก็ต้องพยายามเดินหน้าไป แต่ก็โดนก้อนหินปาเต็มหัวไปหมด” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า อย่างกรณีธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ทำกันอยู่ปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นรูรั่วด้านภาษีที่ค่อนข้างใหญ่ มีหลายบริษัทที่ไปตั้งเว็บไซต์ที่ต่างประเทศ แล้วก็บอกว่าเป็นอีคอมเมิร์ซมาจากต่างประเทศส่งของมาเมืองไทยไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีเงินได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่ค้าขายในเมืองไทย

“แบบนี้พ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ในประเทศก็สู้ไม่ได้ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรก็พยายามออกกฎหมายเพื่อมาปิดช่องโหว่”

ทั้งนี้ ในรายละเอียดกฎหมายอีคอมเมิร์ซที่กรมสรรพากรเสนอ จะให้เก็บ VAT สินค้าที่ส่งผ่านไปรษณีย์จากต่างประเทศ ซึ่งเดิมยกเว้นสำหรับสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพราะไปผูกอยู่กับการยกเว้นอากรศุลกากร

“แต่พอกรมสรรพากรเปิดทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายอีคอมเมิร์ช ก็ถูกด่าเละว่าจะมาเก็บทำไม แต่ถ้าไม่เก็บแล้วคนค้าขายปกติจะอยู่กันอย่างไร เป็นเรื่องความเป็นธรรม” นายอภิศักดิ์กล่าว

ชี้ประเทศไทยรูรั่วภาษีเพียบ

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้น กระทรวงการคลังจะต้องพยายามขยายฐานภาษีและอุดรูรั่วช่องโหว่ต่าง ๆ เนื่องจากประเทศไทยยังมีรูรั่วด้านภาษีค่อนข้างมาก อย่างร้านอาหารจำนวนมากก็ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเมื่อคราวที่รัฐบาลออกมาตรการให้นำใบกำกับภาษีมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทยิ่งทำให้เห็นรูรั่วตรงนี้ชัดเจน พอลูกค้าไปขอใบกำกับภาษี บอกว่าถ้าจะเอาต้องจ่ายเพิ่มอีก 7% หรือบริษัททัวร์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

เปิดรายชื่อกฎหมายภาษีชะงัก

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กฎหมายภาษีหลายฉบับคืบหน้าไปได้ช้า โดยเฉพาะภาษีใหม่ อย่างกฎหมายที่เสนอโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …ที่เปิดประชาพิจารณ์ไปแล้ว2 รอบ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล่าสุดมีการขยายเวลาพิจารณาร่างอีก 60 วัน ถึงสิ้น พ.ย.นี้ และ2.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. … (ภาษีลาภลอย) ที่ปิดประชาพิจารณ์ไปตั้งแต่ 15 มิ.ย.แล้ว ถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ได้

ในส่วนกฎหมายภาษีที่กรมสรรพากรเสนอ มี 1.ร่าง พ.ร.บ.เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่จะกำหนดแนวทางเก็บภาษีธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ ปิดรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นสรุปความเห็นของกรมสรรพากร ซึ่งล่าช้าจากกำหนดเดิมหลายเดือนแล้ว

2.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49 ทวิ กำหนดราคาโอนอสังหาริมทรัพย์ ปิดรับฟังความเห็นไปเมื่อ 11 ก.ค. เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ในการใช้ราคาตามความเป็นจริงในวันที่มีการโอน หรือตามราคาประเมินทุนทรัพย์ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า ปัจจุบันร่างกฎหมายยังไม่ผ่าน สนช.

3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (พ.ร.บ.Transfer Pricing) ที่ปิดรับฟังความเห็นไปตั้งแต่ 7 ก.ค. ปัจจุบันยังไม่ผ่าน สนช.

4.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 5.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล) ปิดรับฟังความเห็นไปตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. ปัจจุบันยังไม่ผ่าน สนช.

6.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. …ปิดรับฟังความเห็นไปตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ปัจจุบันยังไม่ผ่าน สนช.และ 7.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ที่ปิดรับฟังความเห็นไปตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. ปัจจุบันยังไม่ผ่าน สนช.

“สรรพากร-กรมศุล” รายได้แป้ก

รายงานจากกระทรวงการคลังระบุว่า ช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559-ส.ค. 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,132,067 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,961 ล้านบาท เชื่อว่าตลอดปีงบประมาณ 2560 จะจัดเก็บรายได้ตามเป้า 2,343,000 ล้านบาท ในส่วนของ 3 กรมภาษี ช่วง 11 เดือนแรกกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 516,846 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,547 ล้านบาท หรือ 2.5%

ขณะที่กรมสรรพากรเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 67,774 ล้านบาท หรือ 4.1% เป็นผลจากจัดเก็บ VAT ได้ 678,783 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 41,400 ล้านบาท หรือ 5.7% และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 39,097 ล้านบาทต่ำกว่าประมาณการ 24,903 ล้านบาท หรือ 38.9% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยต่ำกว่าข้อสมมติฐานที่ใช้ในการทำประมาณการ ทำให้กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีลดลง

ส่วนกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 96,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,551 ล้านบาท หรือ 12.3% เป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 14,597 ล้านบาท หรือ 13.5% เนื่องจากมูลค่าอากรลดลง สอดคล้องกับการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรระยะที่ 2 สูงกว่าที่ประมาณการไว้

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องเกี่ยวกับภาษี ถ้ามีการรับฟังความคิดเห็น คนส่วนใหญ่ไม่รับอยู่แล้ว เพราะเป็นการไปเก็บภาษีเพิ่ม ดังนั้นเมื่อต้องประชาพิจารณ์ก็ควรมีคำอธิบายชัดเจนว่าเงินที่ได้จะนำไปใช้ทำอะไร ได้ประโยชน์กับใครบ้างเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับภาษีอีคอมเมิร์ซนั้น เห็นด้วยว่าจะต้องมีการจัดเก็บให้ถูกต้อง เพราะการที่เศรษฐกิจดูซบเซาในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายไปสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ดังนั้นหากไม่มีการจัดเก็บภาษี จะทำให้รายได้ที่รัฐควรได้หายไปมาก