“สุพัฒนพงษ์-ปรีดี” ชงมาตรการด่วนอุ้มเอสเอ็มอี-รื้อซอฟต์โลน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“สุพัฒนพงษ์-ปรีดี” ชงมาตรการด่วนอุ้มเอสเอ็มอี-รื้อซอฟต์โลน

วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 19 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) นัดแรก โดยจะมีการเสนอมาตรการดูแลเอสเอ็มอี รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะทำให้เหมาะสม ด้วยการเข้าไปปรับในรายละเอียด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม

พร้อมกันนี้ จะมีวิธีการดูแลประชาชนในกลุ่มที่เดือดร้อน ด้วยการดูแลลดค่าใช้จ่าย ส่วนการดูแลในรูปแบบการเยียวยาจะมีน้อยลง ซึ่งจะร่วมมือกับภาคเอกชนที่อยู่ในคณะทำงาน ศบศ. เพื่อบูรณาการความร่วมมือด้วยกัน โดยในเดือนนี้จะเห็นความชัดเจนของมาตรการ

ส่วนในช่วงที่เหลือของปี จะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้วงเงินที่มีอยู่ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมก็จะทำ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสวิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดรอบ 2 ส่วนที่เอกชนขอให้พิจารณาขยายกรอบการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ศูนย์ ศบศ. ก็พร้อมที่จะพิจารณา

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ยังได้มอบนโยบายให้กับคณะทำงานของ ศบศ. เข้าไปดูแล ผ่าน 5 แนวทาง ได้แก่ 1) การดูแลเอสเอ็มอี และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 2) มาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะต้องมีความยั่งยืน กระตุ้นและเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้าสู่ภาวะปกติ 3) จูงใจให้ธุรกิจคงการจ้างงาน และเน้นการจ้างแรงงานนักศึกษาจบใหม่ และ 5) จะต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น

“การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อจากนี้จะทำผ่าน ศบศ. ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเป็นการทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชน มีการทำงานรวดเร็ว มีการบูรณาการข้อมูล ทำงานร่วมมือกันไม่แยกหน่วยงานไม่แยกกระทรวง ไม่แยกรัฐไม่แยกเอกชน และคณะทำงาน ศบศ. จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เนื่องจากมีหน่วยงานหลายฝ่ายที่ดูแลครอบคลุมแล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเดินหน้านโยบายได้เร็วขึ้น”

ปรีดี ดาวฉาย
ปรีดี ดาวฉาย

 นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จะเน้นดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้งค่าครองชีพ และการจ้างงาน ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ซึ่งจะเข้าไปดูเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็ก จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ หากติดในกฎระเบียบส่วนใด ก็จะพยายามเข้าไปแก้ไข และจะเน้นดูแลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว และการบริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยว การเดินทางและมีการจับจ่ายใช้สอยลดลง

ขณะที่ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระยะต่อไป หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเน้นดูแลเสถียรภาพทางการคลัง ทั้งการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ควบคู่กับรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้

ทั้งนี้ ในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและสถาบันการเงิน จะพัฒนากลไกการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และจะกำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ให้ดำเนินการตามพันธกิจท่ามกลางปัจจัยท้าทาย ทั้งนี้ จะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพการคลัง การเงินในระบบของประเทศ และจะมีการทำงานร่วมกันกับ ธปท.