ค่าเงินบาททรงตัว นักลงทุนหวั่นโควิดระบาดระลอก 2

ค่าเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (3/9) ที่ระดับ 31.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในกรอบจำกัดเทียบเงินสกุลหลัก โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์ โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/9) กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.371 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ระดับ 1.4 ล้านตำแหน่ง

ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับร้อยละ 8.4 ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ร้อยละ 9.8 และต่ำกว่าสถิติของเดือนกรกฎาคมที่ระดับร้อยละ 10.2

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคมที่อัตราการว่างงานของสหรัฐอยู่ต่ำกว่าระดับร้อยละ 10 สะท้อนึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังจากที่หยุดชะงักไปจากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบดของโรคโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนั้น นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว National Public Radui (NPR) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/9) โดยพูดถึงความสำคัญของการใส่หน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคมว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

Advertisment

พร้อมท้้งระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินบาทนั้นปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับราคาช่วงปิดตลาดวันพฤหัส (3/9) ซึ่งค่าเงินบาทวิ่งอ่อนค่าแตะระดับ 31.45 เนื่องจากตลาดรับข่าวพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทย โดยบุคคลดังกล่าวมีประวัติการสัมผัสผู้คนหลายกลุ่มและเดินทางไปหลายพื้นที่ก่อนตรวจพบเชื้อ

นอกจากนั้น ค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากประเด็นการสรรหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยังคงเคลื่อนไหวในแนวอ่อนค่า ขณะที่ธุรกรรมในตลาดเบาบาง และนักลงทุนยังคงรอปัจจัยหนุนใหม่ ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.38-31.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 1.1801/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัส (3/9) ที่ระดับ 1.1820/24 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/9) เยอรมนีเปิดเผยยอดคำสั่งซื้อสินค้าของโรงงานเดือนสิงหาคมออกมาที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ขยายตัวร้อยะ 5.1

อย่างไรก็ดี วันนี้ (8/9) เยอรมนีเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าเดือนกรกฎาคมออกมาที่ขยายตัว 18,000 ล้านยูโร ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ขยายตัว 16,000 ล้านยูโร ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1800-1.1817 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1811/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 106.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัส (3/9) ที่ระดับ 106.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันจันทร์ (7/9) ที่ผ่านมานั้น ญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2/2563 ออกมาที่หดตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่หดตัวร้อยละ 8.1

นอกจากนั้น การใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือนกรกฎาคมถูกเปิดเผยออกมาหดตัวร้อยละ 6.5 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่หดตัวร้อยละ 13 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.25-106.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.30/33 เยน/ดอลลาร์สหัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในกลุ่ม (GDP) ของสหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 2/2563 (8/9), ตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่จาก JOLTs ของสหรัฐ เดือนกรกฎาคม (9/9), อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหภาพยุโรป (10/9), ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) และดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) ของสหรัฐเดือนสิงหาคม (10/9), จำนวนคนยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Innitial Jobless Claims) ของสหรัฐ (10/9),

ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) และดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) ขอญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม (10/9), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 2/2563 (11/9), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมวลรวม (Industrial Prodction) ของสหราชอาณาจักร เดือนกรกฎาคม (11/9), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Mandufacturing Production) สหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม (11/9),

ดุลการค้า (Trade Balance) ของสหราชอาณาจักร เดือนกรกฎาคม (11/9), อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของเยอรมนี เดือนสิงหาคม (11/9), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของสหรัฐเดือนสิงหาคม (10/9), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 2/2563 (11/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.15/+0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.00/+6.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ