กสิกรส่องตลาดหุ้นกู้พลิกสดใส เอกชนแห่ระดมทุนรับ “ค่าบวกเสี่ยง” ลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯส่องตลาดหุ้นกู้กลับมาสดใส ชี้นักลงทุนหายตกใจปมตั๋วบี/อีเบี้ยวจ่ายคืน ปลุกบรรยากาศลงทุนในตลาดกลับคืนภาวะปกติ พาเหรดปรับค่าความเสี่ยงของหุ้นกู้ลดลง กดต้นทุนทางการเงินต่ำ โดยเฉพาะบริษัทเรตติ้งดี มีแรงซื้อจนไม่พอขาย

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาพรวมของตลาดหุ้นกู้เอกชน (บอนด์) ในปัจจุบัน เริ่มมีความเสี่ยงในการระดมทุนที่ปรับลดลง และบรรยากาศได้กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกิดกระแสข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) ของหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระทบไปถึงการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้และตั๋วบี/อี ทำให้ทางบริษัทที่ต้องการระดมทุนจำเป็นต้องยอมบวกผลตอบแทนเพิ่มให้ผู้ลงทุน เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อบอนด์ที่ออกใหม่

“ปัจจุบันความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ (credit spread) ได้มีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องแล้ว สำหรับหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งดี ๆ เช่น หุ้นกู้เรตติ้ง AAA มีการคิดค่าความเสี่ยงลดลงมาอยู่ที่ 0.33% ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าลดลงหากเทียบกับไตรมาส 2 ที่คิดค่าความเสี่ยงสูงถึง 0.46% ขณะที่หุ้นกู้เรตติ้ง BBB ค่าความเสี่ยงก็ขยับลดลงมาอยู่ที่ 2.19% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 2.21% ซึ่งสะท้อนได้ดีว่าตลาดหุ้นกู้เอกชนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากนักลงทุนคลายความกังวลลง สถานการณ์นี้แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา เวลาเอกชนออกหุ้นกู้จะต้องปรับค่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น หากพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทน (ยีลด์บอนด์) อายุ 3 ปี จะอยู่ที่ 1.6% แต่หากเป็นบริษัทเอกชนที่มีเรตติ้งไม่ดี คือ ต่ำกว่าเรตติ้ง BBB ก็จะต้องจ่ายชดเชยระดับความเสี่ยงบวกเข้าไปในผลตอบแทนเพิ่มอีก 2% ให้แก่ผู้ลงทุน ทำให้ยีลด์ของหุ้นกู้เด้งขึ้นไปอยู่ที่กว่า 3% แสดงถึงระดับความเสี่ยงที่มีมากขึ้น” นางสาวกาญจนากล่าว

สำหรับค่าความเสี่ยงที่ลดลงในเวลานี้จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ หันกลับมาระดมทุนผ่านหุ้นกู้กันมากขึ้น เพราะต้นทุนในการออกหุ้นกู้ลดต่ำลงผ่านการบวกค่าความเสี่ยงน้อยลง อีกทั้งเป็นจังหวะที่เหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยในไทยที่ยังมีระดับต่ำอยู่ ซึ่งเหมาะสำหรับการระดมทุนเพื่อใช้ขยายธุรกิจในอนาคต

“เครดิตสเปรดที่ต่ำลง ภาคธุรกิจก็จะมีต้นทุนที่ลดต่ำ จึงเป็นจังหวะดีของผู้ออกหุ้นกู้ ขณะที่นักลงทุนก็มีความกล้าในการซื้อหุ้นกู้มากขึ้น ดังนั้นอาจเห็นการออกหุ้นกู้ได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป หากภาคธุรกิจไม่อยากกู้แบงก์ หุ้นกู้ก็เป็นทางเลือกที่ดี” นางสาวกาญจนากล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลหุ้นกู้ที่จะทยอยครบอายุภายในช่วงไตรมาส 4/2560 นี้ รวมมูลค่าราว 2.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ระยะสั้น 1.6 แสนล้านบาท และหุ้นกู้ระยะยาว 1.05 แสนล้านบาท

Advertisment
อริยา ติรณะประกิจ

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า การดู credit spread จะต้องมอง 2 ด้าน คือ ด้านแรก บริษัทผู้ออกมีเครดิตเรตติ้งที่ดีและมั่นคง ก็อาจทำให้การคิดค่าความเสี่ยงปรับตัวลงมาได้บ้าง สอดคล้องไปกับปัจจัยภาพรวมของตลาดในช่วงนั้น ๆ ส่วนอีกด้านคือบริษัทที่มีระดับเรตติ้งที่ไม่ค่อยดี หรืออยู่ระดับต่ำ ซึ่งการคิดค่าเสี่ยงก็ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี เพราะธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ยังมีความเสี่ยงสูงกว่า

“ความกังวลของตลาดหุ้นกู้ ตั๋วบี/อีก็ยังมีอยู่ ดูจากค่าความเสี่ยงของบริษัทที่เรตติ้งไม่ค่อยอยู่ระดับสูง เพราะนักลงทุนต้องเรียกร้องเอาผลตอบแทนเพิ่มจากอัตราปกติ เพื่อชดเชยค่าความเสี่ยงที่สูง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า บริษัทเหล่านี้จะมีปัญหาความสามารถในการจ่ายคืนในระยะข้างหน้า แต่หากดูบริษัทที่เรตติ้งดี ๆ พวกนี้ไม่จำเป็นต้องบวกค่าความเสี่ยงมาก เพราะออกหุ้นกู้มาขายเท่าไหร่ก็หมด เช่น ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย” นางสาวอริยากล่าว

Advertisment

สำหรับการออกหุ้นกู้ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา หุ้นกู้ที่มีอายุ 270 วันขึ้นไป มีวงเงินรวมอยู่ที่ 5.42 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% จากวงเงิน 4.54 แสนล้านบาท