ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยพลิกบวก Q2/64 จับตาเงินเยียวยาฟื้นฟู

ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยพลิกเป็นบวก Q2/64 จับตาตลาดแรงงาน-งบเยียวยาฟื้นฟูใส่ตรงจุด

ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไทยผงกหัวเป็นบวกไตรมาส 2 ปี 64 เมื่อเทียบฐานที่ต่ำ เผยสัญญาณเครื่องชี้วัดหดตัวน้อยลงต่อเนื่อง จากครั้งปีแรก -7% คาดครึ่งปีหลัง -8.5% พร้อมเกาะติดตลาดแรงงานยังเปราะบาง หลังมีผู้รับสิทธิ์ว่างงาน 4.4 แสนคน ระบุภาวะเศรษฐกิจเดือน ส.ค.ปรับดีขึ้น การส่งออก-รายได้เกษตรหดตัวน้อยลง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ซึ่งปัจจัยมาจากเศรษฐกิจไจรมาสที่ 2 ของปี 2563 หดตัวลงลึก เมื่อเทียบฐานที่ต่ำจึงเห็นเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะเห็นการขยายตัวเป็นบวก แต่เป็นการขยายตัวในอัตราหดตัวติดลบไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

ดอน นาครทรรพ
ดอน นาครทรรพ

“มองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะหดตัวน้อย แต่ในภาพรวมครึ่งแรกของปี 63 เศรษฐกิจจะหดตัว -7% และในช่วงครึ่งปีหลังจะหดตัว -8.5% ทำให้ทั้งปี 63 เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -7.8% ตามที่ ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจไว้

ทั้งนี้ หากดูครึ่งปีแรกที่หดตัวน้อยกว่าครึ่งปีแรก เพราะมีตัวเลขไตรมาสที่ 1 มาช่วยไว้ แต่จะเห็นว่าตัวเลขไตรมาสที่ 2 หดลึก -12% อย่างไรก็ดี เครื่องยนต์ที่สำคัญ คือ ภาครัฐ โดยเฉพาะเม็ดเงินที่เหลือจากการเยียวยาและฟื้นฟูหากออกมาได้เร็ว ได้เยอะ และตรงจุด จะช่วยเศรษฐกิจได้เยอะ”

นายดอนกล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินในเดือนสิงหาคม 2563 พบว่า ภาพรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเครื่องชีวัดหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 แต่สิ่งที่สังเกตเห็นอัตราเร่งในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อัตราการฟื้นตัวไม่ได้เร่งตัวมาก เป็นผลมาจากการเปิดล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาทั้งหมดแล้ว เมื่อเทียบก่อนหน้าที่การล็อกดาวน์ทยอยการเปิดเมืองทีละสเต็ป ทำให้อัตราการเร่งลดลง

ทั้งนี้ หากดูการส่งออกสินค้าจะพบว่าขยายตัวดีขึ้น จาก -11.9% มาอยู่ -8.2% หากไม่รวมการส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากกว่าเดือนก่อนจาก -0.1% เป็น -1.1% เนื่องจากเดือน ก.ค. มีปัจจัยพิเศษเรื่องวันหยุด ทำให้การใช้จ่ายดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ธปท. มองว่าเครื่องชี้วัดการบริโภคเอกชนจะเป็นตัวที่มีแนวโน้มดีกว่าดัชนีตัวอื่น เช่นเดียวกับ รายได้ภาคเกษตรที่ค่อนข้างดี ขยายตัว 9% เป็นผลมาจากราคายางที่เป็นบวกจากความต้องการถุงมือยาง ซึ่งเป็นตัวหนุนการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าไตรมาสที่ 2 มีอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 1.9% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 2% อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเข้าขอรับสิทธิว่างงานจากประกันสังคมยังเพิ่มขึ้นจาก 4.1 แสนคน เป็น 4.4 แสนคน เนื่องจากไส้ในมีผู้ที่ทำงานยังไม่เต็มเวลา ทำให้รายได้ยังลดลง จึงสะท้อนความเปราะบาง ดังนั้น ธปท. ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจาก -0.9% มาอยู่ที่ -0.5% จากราคาอาหารและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย -0.2% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกและทองคำเป็นหลัก และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิน้อยลงจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดตราสารทุน และนักลงทุนไทยขยายการลงทุนไปในต่างประเทศจากเดิมเป็นการนำเงินกลับเข้ามาเมื่อเทียบไตรมาสที่ 2

“ภาพรวมเดือนสิงหาคมเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวไม่เร่งตัวเท่าเดือนก่อนหน้า และหากมองไปข้างหน้ายังจะเห็นการหดตัวได้ในบางจุด และดีขึ้นในบางตัว อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท.ยังคงให้ความสำคัญและติดตาม จะเป็นสุขภาพด้านตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง ส่วนตัวอื่น ๆ ยังพอไปได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวภายหลังจากประกาศของ ศบค. เปิดรับนักท่องเที่ยวยังมองว่าไม่มีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวน 1,200 คนต่อเดือน จากปกติอยู่ที่ 3 ล้านคนต่อเดือน การใช้จ่ายน้อยมาก แต่เชื่อว่าจะค่อยเป็นค่อยไป”