รุมปั๊มหัวใจเศรษฐกิจรอบทิศ “อาคม” แจกมาตรการของขวัญปีใหม่

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

รมว.คลัง สั่งการบ้าน สศค. เตรียมของขวัญปีใหม่ กระตุ้นกำลังซื้อประชาชนอีกรอบ พร้อมสั่งปลัดคลังตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน เล็งออกมาตรการภาษีกระตุ้นเอกชนรายใหญ่ลงทุนในอีอีซี เตรียมดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ทั้ง 3 โครงการที่ออกมา ทั้งโครงการคนละครึ่ง เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และช้อปดีมีคืน ว่าสามารถกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนได้มากน้อยเพียงใด และให้เตรียมมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อช่วงไตรมาส 4 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ที่จับจ่ายช่วงสิ้นปี 2564 นี้

“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนทุกปี ปีนี้ก็จะเตรียมของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นการเข้าไปดูแลการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงปีใหม่ด้วย”

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

สำหรับการดูแลเศรษฐกิจระยะ 3 เดือนหลังจากนี้ จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจ จะต้องเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เป็นตามเป้าหมาย เช่น โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เป็นต้น

ซึ่งได้มอบหมายให้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย

Advertisment

พร้อมกันนี้ จะต้องให้ความสำคัญในการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ผ่านมาตรการทางภาษีและระบบการเงิน เพื่อดึงดูดบริษัทรายใหญ่ในต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงต่างประเทศ

รวมทั้งจะใช้จุดแข็งเรื่องการป้องกันโควิด-19 ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เช่น ใช้มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 2-3 เดือน เพื่อเปิดรับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการจ้างงาน แม้กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการออกมาดูแลการจ้างงานแล้ว แต่ในภาพรวมยังมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ จากการขอพักชำระหนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ฉะนั้น กระทรวงการคลังจะเตรียมมาตรการออกมารองรับไม่ให้เกิดการว่างงาน เช่น การเพิ่มทักษะ เป็นต้น

นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแลรายรับ รายจ่าย และงบการเงินของประเทศ จึงต้องมีมาตรฐานการเงินการคลังตามมาตรฐานสากล จะต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส จะต้องรอบคอบภายใต้กรอบวินัยการคลังของประเทศ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

Advertisment

จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ที่ดูแลด้านปฏิบัติ ด้านกำกับดูแล ด้านนโยบายในภาพรวม ส่วนในระดับมหภาคหรือในภาพรวมต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย

“กระทรวงการคลังต้องสร้างเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ซึ่งขณะนี้ฐานะการคลังก็ยังมีความมั่งคง”