“ฟ้าหลังฝน” SMEs จะไปอย่างไรดี

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ Smart SMEs
TMB Analytics

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ลดลง และการเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมไปถึงการขาดกระแสเงินสด หลายธุรกิจกำลังพะวงกับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้การสร้างกลยุทธ์เพื่อรับมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นไปอย่างยากลำบาก

เพื่อให้การวิเคราะห์สภาพธุรกิจของ SMEs ในยุค “ฟ้าหลังฝน” มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้ประเมินสุขภาพทางการเงิน (financial health) ของธุรกิจ ว่าสามารถรองรับวิกฤตและอยู่รอดข้ามผ่านสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจมีศักยภาพดีขึ้นสำหรับดำเนินธุรกิจในอนาคต ด้วยการนำข้อมูลทางการเงิน 2 ด้านมาประเมินร่วมกัน คือ

1.ความสามารถในการทำกำไร (profitability performance) โดยวัดจากรายได้จากการดำเนินงาน เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหากอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (operating profit margin) สูงกว่า 5% ถือว่าเป็นธุรกิจศักยภาพสูงในการหารายได้

และ 2.สภาพคล่องธุรกิจ (liquidity performance) โดยใช้ตัวชี้วัดวงจรเงินสด (cash conversion cycle) หากอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 45 วัน หมายถึงธุรกิจยังมีเงินสดจำนวนหนึ่งที่สามารถไปลงทุนเพื่อขยายกิจการ ควบคู่ไปกับอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน current ratio ที่สูงกว่า 2 เท่า จะหมายถึงธุรกิจมีสภาพคล่องที่แข็งแรง มีเงินสดในการดำเนินธุรกิจและสภาพคล่องของกิจการเพื่อชำระหนี้ระยะสั้น

ด้วยการประเมินสุขภาพทางการเงินที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์ได้จัดลักษณะธุรกิจเป็น 4 กลุ่มดังต่อไปนี้ 1.กลุ่มพร้อมโต เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินดีที่สุด จากความสามารถในการทำกำไรสูงและมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง จากการวิเคราะห์พบว่ามีจำนวน SMEs ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีสัดส่วน 20% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด

โดยส่วนใหญ่ธุรกิจในกลุ่มนี้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่ำ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีศักยภาพในการเติบโตสูง หากสามารถวางแผนการลงทุนและการตลาดล่วงหน้าได้ เพื่อขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

2.กลุ่มพร้อมฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินรองลงมา โดยมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง แต่ยังมีสภาพคล่องธุรกิจที่เปราะบาง จากการวิเคราะห์พบว่ามีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ 27% จากธุรกิจ SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนัก แต่ได้รับผลกระทบจากวงจรเงินสดที่ยาวขึ้น สินทรัพย์หมุนเวียนน้อยลง ทำให้มีสภาพคล่องธุรกิจที่ค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ค้าปลีกสินค้ายา/เวชภัณฑ์ ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักร เป็นต้น

หากธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในกลุ่มนี้ถือว่ายังโชคดีที่ธุรกิจยังสามารถทำกำไรได้ดีหลังจากผ่านช่วงวิกฤต อย่างไรก็ตาม ควรที่จะบริหารสภาพคล่องให้ดีขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้อย่างราบรื่นขึ้น

3.กลุ่มรอฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินพอไปได้ ด้วยธุรกิจยังมีสภาพคล่องที่แข็งแรง สามารถประคองธุรกิจให้ไปต่อได้ แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำลง พบว่ามีสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่ 19% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ธุรกิจกลุ่มนี้จะอยู่ในธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร งานบริการทางธุรกิจ เช่น ที่ปรึกษา งานซ่อมบำรุง/ทำความสะอาด รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

กลยุทธ์ของธุรกิจกลุ่มนี้ คือ ให้ความสำคัญกับการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อหารายได้ทดแทน รวมไปถึงการลดต้นทุนตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อรอการฟื้นตัวของตลาด

4.กลุ่มรอรักษา เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรายได้ที่หดหายไปมาก กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องธุรกิจไม่ดี ในกลุ่มนี้มีจำนวนธุรกิจกระจุกอยู่ถึง 34% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจโรงแรมที่พัก/บริการท่องเที่ยว ค้าปลีกเสื้อผ้า ประดับยนต์และสถานบันเทิง เป็นต้น

กลยุทธ์สำหรับธุรกิจกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการจัดหาสภาพคล่องเพิ่ม การบริหารสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจ รวมไปถึงการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อหาตลาดใหม่ เพื่อหารายได้ทดแทน เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องทำงานหนัก เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ การประเมินสุขภาพทางการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเห็นภาพได้ชัดขึ้น ช่วยปรับวางแผนธุรกิจให้ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการ SMEs มีสุขภาพการเงินอยู่กลุ่มไหนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจสถานการณ์ตัวเองและประเมินธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งในด้านทิศทางตลาดในอนาคต ความเพียงพอด้านการเงิน และด้านการพัฒนาบุคลากร

หากผู้ประกอบการ SMEs วิเคราะห์สถานการณ์บริษัทตนเองได้ จะทำให้การวางแผนกลยุทธ์เพื่อขยายตลาด และบริหารสภาพคล่องได้เหมาะสม สอดคล้องกับทิศทางภาวะธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะช่วยธุรกิจของผู้ประกอบการ สามารถสร้างความพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 บรรเทาลง