ดอลลาร์แข็งค่าหลังโควิดระบาดระลอกสอง จับตาเลือกตั้งปธน.สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/10) ที่ระดับ 31.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (22/10) ที่ระดับ 31.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหภาพยุโรปหลัก ๆ หลายประเทศอยู่ในระดับน่ากังวล โดยการเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปขณะนี้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของหน่วยงานทางการแพทย์ของสมาชิกสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ตลาดก็จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างใกล้ชิด หลังการโต้วาทีครั้งสุดท้ายระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน จบลงเมื่อคืนวันศุกร์ (23/10) ที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ผู้สมัครทั้งสองได้แสดงวิสัยทัศน์ อุดมการณ์ และแนวนโยบายของผู้สมัครทั้สองมากกว่าในการโต้วาทีครั้งแรก

อย่างไรก็ดี ผลตอบรับจากการโต้วาทีในครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยนายโจ ไบเดน ยังคงได้รับความนิยมจากผลการสำรวจต่าง ๆ มากกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์

ในส่วนของค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (22/10) ตลาดยังคงจับตาดูสถานการณ์การชุมนุมในประเทศ โดยในวันนี้ทางรัฐสภาเปิดประชุมร่วมสมัยวิสามัญ 3 ฝาย เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปในปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

Advertisment

1.การพิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 2.การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 ที่มีการกีดขวางขบวนเสด็จ รวมทั้งตะโกนถ้อยคำหยาบคาย 3.สถานการณ์การชุมนุมในจุดต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

และในช่วงเย็นวันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการนัดชุมนุมกันอีกครั้ง หลังนายกฯไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเสนอของผู้ชุมนุมได้ตามกำหนด ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.28-31.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตคลาดที่ระดับ 31.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/10) ที่ระดับ 1.1846/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (22/10) ที่ระดับ 1.1835/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ดี ในช่วงวันศุกร์ (23/10) ที่ผ่านมา ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงไปจนเกือบหลุดระดับ 1.1800 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหภาพยุโรปกลับมารุนแรงขึ้น ทำให้รัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลาย ๆ ประเทศ ได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1804-1.1859 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1810/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

Advertisment

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/10) ที่ระดับ 104.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (22/10) ที่ระดับ 104.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเนื่องจากความกังวลด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหภาพยุโรปหลาย ๆ ประเทศเริ่มกลับมาน่ากังวลสูงอีกครั้ง ทำให้ตลาดหันกลับมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ในสัปดาห์นี้ยังต้องจับตาการประชุมของธนาคารกลางของญี่ปุ่นในวันพฤหัสบดี (29/10) ด้วย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.63-104.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (26/10), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เดือนกันยายน (27/10), รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากสถาบัน CB เดือนตุลาคม (27/10), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือนกันยาน (28/10), ดุลการค้าสินค้าสหรัฐ เดือนกันยายน (28/10) ดัชนียอดขายปลีกญี่ปุ่น เดือนกันยายน (29/10), การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (29/10),

การเปลี่ยนแปลงอัตราการว่างงานในเยอรมนี เดือนตุลาคม (29/10), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐ ไตรมาส 3 (29/10) ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เยอรมนี ไตรมาส 3 (30/10), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน เดือนตุลาคม (30/10), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยูโรโซน ไตรมาส 3 (30/10), ดัชนีอัตราค่าจ้างแรงงานของสหรัฐ ไตรมาส 3 (30/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.5/0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.00/4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ