ธปท.จับมือกระทรวงยุติธรรม หนุนแบงก์-ลูกหนี้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย

ธปท.จับมือกระทรวงยุติธรรมไกล่เกลี่ยหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือ ‘กระทรวงยุติธรรม’ แลกเปลี่ยนข้อมูลปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ส่งเสริมเจ้าหนี้-ลูกหนี้เลือกช่องทางการไกล่เกลี่ยหนี้ ชะลอปริมาณคดีที่ไหลเข้าสู่ศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการไกลเกลี่ยข้อพิพาท (MOU) โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักชีพยาน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า MOU ฉบับนี้นับเป็นจุดเริ่มตันที่สำคัญของความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการไกลเกลี่ยข้อพิพาท ผ่านการพัฒนาศักยภาพของผู้ใกล่เกลี่ยให้มีความรู้ความเข้าใจ และความชำนาญทางด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานตลอดจนร่วมกันส่งเสริมให้เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาหนี้

ทั้งนี้ การไกลเกลี่ยข้อพิพาทถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งการไกลเกลี่ยข้อพิพาทจะมีคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยไม่ต้องฟ้องคดีที่ศาล มีความสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ชั้นศาล ช่วยลดค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกฎหมาย กล่าวว่า ในภาวะปัจจุบันลูกหนี้และเจ้าหนี้มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้คดีที่เข้าสู่ศาลมีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหนี้สินที่เกี่ยวกับการบริโภคและบัตรเครดิต อย่างไรก็ดี กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ซึ่งเป็นกระบวนการพิเศษทางกฎหมานนั้น เป็นตัวช่วยให้ข้อพิพาทจบได้เร็วขึ้นโดยที่คดีไม่ต้องถูกฟ้องร้องเข้าสู่ศาล

“โดยเฉพาะมูลหนี้ระหว่างแบงก์และลูกหนี้ หากจบได้โดยดีคดีก็จะไม่ยืดเยื้อ ซึ่งการยืดเยื้อทำให้เสียเวลาที่จะสอบปากคำพยาน ฯลฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้แนวโน้มคดีจากลูกหนี้ที่ชำระหนี้ไม่ได้เริ่มเพิ่มขึ้น” นายพฤทธิพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลจาก ธปท.ได้ที่สายด่วน 1213

ด้าน นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในทางวิชาการ ข้อมูล และการไกลเกลี่ยข้อพิพาท ภายใต้กรอบความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน ดังนี้

1. ร่วมมือทางวิชาการด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ด้านกฎหมาย และด้านการเงิน เพื่อพัฒนาศักภาพ และสนับสนุนบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญ

2. ร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ให้บริการทางการเงิน มีความรู้ความเข้าใจถึงผลดีของการนำกระบวนการไกลเกลี่ยมาดำเนินการเพื่อยุติข้อพิพาท

3. แลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้

4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เลือกใช้การไกลเกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกลเกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาท เพื่อยุติหรือระงับข้อพิพาท

นายวิศิษฏ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาและขับเคลื่อนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และผลักดันให้มีกฎหมายกลางเกี่ยวกับการไกลเกลี่ยข้อพิพาทโดยหน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน และศูนย์ใกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันนั่นคือ ‘พระราชบัญญัติการไกลกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562’

โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท และข้อพิพาททาอาญาความผิดอาญาอันยอมความได้และความผิดลหุโทษที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวไม่กระทบต่อส่วนรวม และความผิดอาญาที่มีโทษอย่างสูงไม่เกินสามปี ท้ายพระราชบัญญัติฯ ให้สามารถยุติหรือระงับได้ด้วยการไกลเกลี่ยข้อพิพาท

ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนาม และผู้ที่ผ่านการอบรมการไกลเกลี่ย ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการไกลเกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 และได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการส่งเสริมและดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้ประชาชนทุกชนชั้น สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป