ศักดิ์สยาม ชง ครม.เคาะ “แผนฟื้นฟู ขสมก.” ปลดหนี้แสนล้าน

“ศักดิ์สยาม” ดอดคุยนอกรอบ ”เลขาครม.-เลขาสภาพัฒน์” ประกาศลั่นต้องชง ”แผนฟื้นฟู ขสมก.” ให้ ครม.เห็นชอบภายในเดือน ม.ค. 2564 เผยไม่ติดใจเรื่องแผนงาน EBITDA เป็นบวกใน 7 ปี “คลัง” รับแบกหนี้แสนล้านให้แล้ว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2563 ได้หารือนอกรอบกับนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาคณะรัฐมนตรี (เลขาครม.) และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อหารือเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีภาระหนี้กว่า 1.27 แสนล้านบาท

“เลขา ครม.เร่งให้คมนาคมส่งตัวแทนไปประสานงาน เพื่อรวบรวมข้อสังเกตจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมว่า ต้องทำอะไรบ้างและเพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำการบ้านตอบกลับมาอย่างถูกต้อง โดยขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ม.ค. 2564”

ไม่แย้งเรื่อง EBITDA-ยอมแบกหนี้แล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นได้รับทราบว่า สภาพัฒน์และกระทรวงการคลังไม่มีข้อสงสัยด้านการดำเนินกิจการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งจะมีกำไรก่อนจะหักค่าใช้จ่าย (EBITDA) เป็นบวกใน 7 ปี และการให้กระทรวงการคลังรับภาระหนี้สะสมเดิมของ ขสมก. ประมาณ 100,000 ล้านบาทแล้ว

เนื่องจาก ขสมก. ได้ชี้แจงข้อสงสัยที่มีไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐมนตรีให้ประสานข้อมูลไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) อยู่ระหว่างรอ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม จัดประชุมเตรียมความพร้อม เพื่อประสานงานกับทาง สลค. ต่อไป

แม้จะไม่มีข้อสงสัยด้านการดำเนินกิจการและการรับภาระหนี้สะสมแล้ว แต่ทราบมาว่ามีบางหน่วยงานสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลเส้นทางรถเมล์ปฏิรูปใหม่ 162 เส้นทาง ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่ามีการรองรับกับการทยอยเปิดให้บริการรถไฟฟ้า 10 สายหลักจริงหรือไม่

และเส้นทางที่ระบุไว้เข้าถึงประชาชนได้ทุกระดับหรือไม่ ซึ่งกระทรวงกำลังรวบรวมคำถามและประเด็นจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตอบคำถามและทำการบ้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ รายละเอียดของแผนฟื้นฟูทั้ง 7 ประเด็นยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

”ขนส่ง” ยังไม่ทราบท้วง 162 เส้นทาง

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่ทราบถึงข้อทักท้วงด้านเส้นทางปฏิรูป 162 เส้นทาง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ โดยคาดว่าจะมีการประชุมหารือถึงประเด็นที่หน่วยงานต่าง ๆ สอบถามอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดของแผนฟื้นฟู ขสมก. ยังไม่มีการปรับแก้ใด ๆ โดยรายละเอียดยังเป็น 7 ประเด็นตามที่คณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (ฉบับปรับปรุงใหม่) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานมีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา

เปิดรายละเอียดแผน

ซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นำเสนอ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.แนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยมีโครงข่ายหลัก จำนวน 162 เส้นทาง และให้ ขสมก.บริหารจัดการเดินรถตามแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ ให้ ขบ. พิจารณาปรับปรุงเส้นทางให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ให้ครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งในอนาคตต่อไป

2.ให้ ขสมก. มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางที่มีการกำหนดใหม่ หรือเส้นทางเดินรถที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ก่อนผู้ประกอบการขนส่งรายอื่น ในกรณีที่ ขสมก.ไม่ประสงค์เดินรถในเส้นทางดังกล่าว ให้ ขบ.โดยอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป

และ 3.นโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ให้ ขสมก.จัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Single price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน/ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว โดยในอนาคตอาจปรับเพิ่มหรือลดอัตราค่าโดยสารเพื่อให้เหมาะสม กับสถานการณ์และภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

และ ขสมก. เสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การเสนอขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิมเป็นเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปรับปรุงใหม่ โดยให้ ขสมก. เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชน เดินรถให้บริการ เป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV จำนวน 1,500 คัน

2.อนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด 3.อนุมัติในหลักการให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินของ ขสมก. โดยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของ ขสมก. เมื่อ Ebitda เป็นบวก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป รัฐบาลรับภาระชำระดอกเบี้ยของ ขสมก. แล้ว

ทั้งนี้ ยอดหนี้คงค้างที่รัฐบาลรับภาระจะเป็นยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 กรณี Ebitda เป็นบวกแค่ 1 หรือ 2 ปี แล้วกลับมาเป็นลบ ในหลักการปีถัดไป รัฐจะไม่ชำระหนี้เงินต้นให้ และ 4.อนุมัติหลักการเพื่อขอสนับสนุนเงินอุดหนุนจากภาครัฐ จำนวน 7 ปี โดยเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง