ThaiBMA คาดการณ์ปี’64 บริษัทเอกชนระดมทุนหุ้นกู้ 7-7.5 แสนล้านบาท

ส่องแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ปี’64 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดการณ์เอกชนระดมทุนขายหุ้นกู้ 700,000-750,000 ล้านบาท ตุนสภาพคล่องรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจ 

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2564 ว่า ThaiBMA ประเมินว่าบริษัทเอกชนยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเชื่อว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ไปตลอดทั้งปีนี้เพื่อประคองเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางมีกรอบที่จำกัดในการปรับตัวขึ้นเนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะทยอยขยับขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“จากแนวโน้มที่ภาคเอกชนหันไปใช้สินเชื่อแบงก์มากขึ้น และคาดว่าจะยังเป็นเทรนด์ต่อเนื่องไปอีกสักพักใหญ่จนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวอย่างแท้จริง ดังนั้น คาดว่ายอดการระดมทุนด้วยหุ้นกู้ของภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปอยู่ที่ประมาณ 7-7.5 แสนล้านบาท ในปี 2564” นายธาดา กล่าว

ขณะที่ความเสี่ยงที่อาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น นายธาดา กล่าวว่า ในปี 2563 มีบริษัทเอกชนขอการเลื่อนชำระหนี้รวมทั้งสิ้น 12 ราย โดยจะทยอยครบกำหนดชำระอีกครั้งในปี 2564 และ 2565 ซึ่งในบางส่วนธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวได้มีการเตรียมการเพื่อที่จะไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด ขณะที่ผู้ออกบางกลุ่มใช้ช่วงจังหวะตลาดฟื้นออกหุ้นกู้ในปลายปีที่แล้วเพื่อเตรียมชำระคืนที่จะครบกำหนดในปีนี้

สำหรับวิกฤตการระบาดระลอกใหม่ เชื่อว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากเท่าการระบาดครั้งแรก เนื่องจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์จำกัดพื้นที่ แต่ยังถือเป็นประเด็นเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีความเปราะบางสูง แต่เชื่อว่าสำหรับธุรกิจที่ยังมีปัญหาจะขอผู้ถือหุ้นกู้เพื่อยืดชำระหนี้ต่อไป แทนที่จะปล่อยให้ Default

ขณะที่ ภาพรวมปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเผชิญแรงกดดันและความกังวลต่างๆ ตลอดทั้งปี 2563 แต่พบว่ามูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยยังคงเพิ่มขึ้น 4.5% จาก 13.52 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 14.13 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าเกิดจากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาล ในขณะที่ตราสารหนี้ประเภทอื่นมีมูลค่าคงค้างลดลง ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาดรองลดลง 5.3% จาก 8.8 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2562 เป็น 8.3 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2563

เมื่อพิจารณาการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 2563 พบว่า มีมูลค่ารวม 683,559 ล้านบาท ลดลง 36% จากปีก่อนหน้าที่มียอดการออกสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.08 ล้านล้านบาท โดยประเมินว่าเกิดจากเงินฝากในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กลุ่มสถาบันการเงินลดการออกตราสารหนี้ ขณะเดียวกันผู้ออกในกลุ่มธุรกิจจริง (Real Sector) ก็หันไปใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น

อย่างไรก็ดี พบว่า สัดส่วนการเสนอขายตราสารหนี้ต่อประชาชนทั่วไป (PO: Public Offering) เพิ่มขึ้น 28% ของยอดการออกรวมจาก 18% ในปีก่อนหน้า ซึ่งหุ้นกู้ที่เสนอขายเพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอันดับเครดิตดีตั้งแต่ A- ขึ้นไป

นายธาดา กล่าวอีกว่า จากความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืน ทำให้ในปี 2563 การออก ESG Bond (ESG: Environmental, Social and Corporate Governance) จากทั้งภาครัฐและเอกชนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 86,400 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการออกในปีที่แล้วที่ 30,040 ล้านบาทเกือบ 3 เท่า โดยเป็นผลจากที่ผู้ออกประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และการเคหะแห่งชาติ เริ่มหันมาระดมทุนด้วยตราสารประเภทนี้

ทั้งนี้ ESG Bond มียอดการออกรวม 62,800 ล้านบาท ส่วนผู้ออกภาคเอกชน ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) มียอดการออกรวมทั้งสิ้น 23,600 ล้านบาท

เมื่อสอบถามถึง กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) นายธาดา กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มียอดไหลออก 110,849 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังมียอดการไหลเข้า 46,824 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2563 มียอดการไหลออกสุทธิ 64,025 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 8,212 ล้านบาท และไหลออกสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 72,237 ล้านบาท ส่งผลห้ ณ สิ้นปี 2563 นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 857,151 ล้านบาท ลดลงจาก 916,816 ล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า