EXIM BANK โชว์ผลดำเนินงานปี’63 โตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปี

EXIM BANK

EXIM BANK โชว์ผลการดำเนินงานปี’63 สินเชื่อคงค้างพุ่ง 1.35 แสนล้านบาท NPL 3.81% สะท้อนการเติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปี เป็นผลจากการปรับองค์กรตามแผนแม่บท 10 ปี ชี้ขาดทุนสุทธิ 1.3 พันล้านบาท หลังจากสำรองเกณฑ์ TFRS 9

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้เป็นอย่างดี ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ ส่งผลการดำเนินงานในปี 2563 ที่ผ่านมา มีสินเชื่อคงค้าง 135,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,360 ล้านบาท หรือ 11% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 3.81% จากจำนวนสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5,153 ล้านบาท

“ถือว่า NPL ของเรายังอยู่ตามเกณฑ์ แต่เราก็มีการทำเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) ซึ่งสิ้นเดือนธ.ค.63 เรามีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 11,977 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ 232.44% ทำให้ในปี 2563 มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 2,250 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ EXIM BANK มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,340 ล้านบาท”

สำหรับยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อการค้า 36,093 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 99,135 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) รวม 168,035 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 60,689 ล้านบาท (สัดส่วน 36%) นอกจากนี้ ยังมีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 93,622 ล้านบาท เป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 56,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,930 ล้านบาท หรือ 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีสินเชื่อคงค้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ส่งออกและลงทุนใน New Frontiers จำนวน 39,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,487 ล้านบาท หรือ 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ดี หากเทียบการเติบโตในรอบ 5 ปี (2558-2563) ถือว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แสดงให้เห็นจากยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อขยายตัว 84% จาก 73,540 ล้านบาท เป็น 135,228 ล้านบาท (เฉลี่ย 13% ต่อปี) ในจำนวนนี้ เป็นยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs เพิ่มขึ้น 86% จาก 16,883 ล้านบาท เป็น 31,461 ล้านบาท (เฉลี่ย 13% ต่อปี)

จำนวนลูกค้าโต 163% จาก 1,631 ราย เป็น 4,282 ราย (เฉลี่ย 21% ต่อปี) ในจำนวนนี้ ลูกค้า SMEs เพิ่มขึ้น 194% จาก 1,192 ราย เป็น 3,507 ราย (เฉลี่ย 24% ต่อปี) คิดเป็นสัดส่วนสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs ได้ 15% ของทั้งประเทศ และยอดสินเชื่อคงค้างใน New Frontiers (รวมกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV) ขยายตัว 53% จาก 26,022 ล้านบาท เป็น 39,754 ล้านบาท (เฉลี่ย 9% ต่อปี)

นอกจากนี้ ในปี 2563 ได้มีการสนับสนุนการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve) และพื้นที่เป้าหมาย อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดคงค้างสินเชื่อในประเทศขยายตัว 61% จาก 26,489 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 42,751 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 10% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 7,237 ล้านบาท หรือ 20%

พร้อมกันนี้ ได้ให้บริการประกันการส่งออกและการลงทุน รวมทั้งบริการวิเคราะห์ความเสี่ยงผู้ซื้อและธนาคารผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกันเพิ่มขึ้น 105% จาก 66,018 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 135,071 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 15% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 13,699 ล้านบาท หรือ 11%

ทั้งนี้ ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนตั้งแต่ต้นปี 2563 และได้ออกมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของโควิด-19 ตามความต้องการของกิจการ ซึ่งได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการจำนวน 6,400 ราย วงเงินรวมประมาณ 55,000 ล้านบาท