วัคซีนสะดุด-บอนด์ยีลด์พุ่ง ฉุดรั้งหุ้นไทยไม่ให้ไปไหนไกล

Photo by Bryan R. Smith / AFP

วัคซีนสะดุด-บอนด์ยีลด์พุ่งแตะระดับสูงสุด 1.628% ฉุดรั้งหุ้นไทยไม่ให้ไปไหนไกล คาดแกว่งตัวในกรอบ 1,555-1,580 จุด ระวังแรงเทขายหุ้นท่องเที่ยว/เปิดเมือง เพื่อทำกำไรระยะสั้น จับตาประชุมเฟด-ประชุม ศบค.

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวัน นี้(15 มี.ค. 2564) ว่า ดัชนี SET เช้านี้แกว่งตัวออกข้างเป็นหลักในกรอบ 1,555-1,580 จุด หลังตลาดรับรู้ปัจจัยเชิงลบและบวกทั้งในและต่างประเทศไประดับหนึ่งแล้ว

ได้แก่ 1.ความกังวลการเลื่อนฉีดวัคซีนของ AstraZeneca และ 2.สภาวะการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกอย่างการเจรจาขอวัคซีน Sinovac เพิ่มอีก 5 ล้านโดส จากทางจีน อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยผลักดัน SET ให้ปรับตัวขึ้นต่ออย่างชัดเจนในตอนนี้

โดยล่าสุด รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac อีก 5 ล้านโดส ทางฝ่ายวิจัยมองว่าความพยายามในครั้งนี้ ถือเป็นการลดการพึ่งพาการฉีดวัคซีนจาก AstraZeneca เพียงรายหลักรายเดียว ในระยะกลางยังมองเป็นบวกต่อกลุ่มท่องเที่ยวและเปิดเมือง แต่ในระยะสั้นอาจไม่ทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจาจัดหาจนถึงขั้นตอนนำมาฉีดให้ประชาชน จึงทำให้เกิดแรงขายทำกำไรกลุ่มท่องเที่ยวและเปิดเมืองออกมาในระยะสั้น

ขณะที่ประเด็นวัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) และมาตรการลดวันกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศให้เหลือเพียง 7-10 วัน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศบค. ชุดใหญ่ในวันศุกร์นี้

Advertisment

ด้านบอนด์ยีลด์สหรัฐ อายุ 10 ปี ยังพุ่งต่อเนื่อง ล่าสุดมาปิดที่ระดับ 1.628% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะยาวได้ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องจากต้นปี 2564 ส่งผลให้ความกังวลเรื่องการเร่งตัวขึ้นของภาวะเงินเฟ้อและการดำเนินโยบายทางการเงินแบบคุมเข้ม อาทิ 1.การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ 2.การลดขนาด QE กลับมาเป็นกังวลของตลาดอีกครั้ง ในภาพรวมทางฝ่ายวิจัยมองว่าระยะสั้นประเด็นนี้จะกดดันเซนติเมนต์การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

โดยทางฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเห็นการเวียนกลุ่มเล่นมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับฐานของหุ้นจากกลุ่มเติบโต (Growth) เข้าสู่กลุ่มวัฏจักร (Cyclical) หรือ (Value) อีกระลอก

อย่างไรก็ดีสัปดาห์นี้ติดตามช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. สำหรับการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คาดไม่มีอะไรใหม่ และวันที่ 19 มี.ค. การประชุม ศบค.ชุดใหญ่เรื่องเปิดเมือง