ทำไมรัฐต้องกระตุ้นการบริโภค

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์

พงศ์นคร โภชากรณ์ 
[email protected]

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจหดตัวต่ำสุดในรอบ 22 ปี ใกล้เคียงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540-2541 และเป็นการหดตัวเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน การจ้างงาน การส่งออกสินค้า

คำถามตัวโต ๆ คือ รัฐบาลจะใช้เครื่องมืออะไรมาฉุดให้เศรษฐกิจฟื้นตัว หวังพึ่งการส่งออกคงไม่ได้เพราะเศรษฐกิจโลกก็โดนพิษโควิด-19 เล่นงานจนโคม่าไม่แพ้กัน การลงทุนเอกชนก็คงไม่ได้ เพราะนักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ การท่องเที่ยวยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะวันนี้เพิ่งมีคนได้รับวัคซีนเพียง 30,000 กว่าคนเท่านั้น

การใช้จ่ายภาครัฐก็อาจจะพอช่วยได้เพราะต้องทำหน้าที่เป็นตัวปรับสมดุลเศรษฐกิจ หรือ economic stabilizer อยู่แล้ว แต่การใช้จ่ายภาครัฐที่เป็นรายจ่ายประจำคงไม่สามารถกระตุ้นอะไรได้มาก ภาระและความหวังจึงไปตกอยู่ที่การใช้จ่ายภาครัฐที่เป็นรายจ่ายลงทุนที่มีสัดส่วนเพียง 6.7% ของ real GDP เท่านั้น (real GDP ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10.2 ล้านล้านบาท) พูดง่าย ๆ คือการลงทุนภาครัฐตัวเล็กเกินไป เหมือนเอารถมอเตอร์ไซค์มาฉุดรถสิบล้อขึ้นจากหลุม

ดังนั้น เครื่องยนต์ที่มีแรงม้ามากพอที่จะดึงเศรษฐกิจขึ้นจากก้นเหวได้ก็คือ การบริโภคภาคเอกชน เพราะมีมูลค่าประมาณ 5.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 54.6% ของ real GDP (แซงการส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วน 54.3% ของ real GDP และมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการส่งออกสินค้าในรอบ 16 ปี)

ฉะนั้น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจึงทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชนที่ลงถึงมือพี่น้องประชาชนโดยไม่ผ่านใครหลายโครงการ คิดเป็นเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมต้องเติมกำลังซื้อให้ถึงมือประชาชน คำตอบคือ การบริโภคภาคเอกชนที่มีขนาด 54.3% ของ real GDP ก็คือ ผู้บริโภคทั้ง 67 ล้านคนในประเทศ คำนวณแบบเฉลี่ยง่าย ๆ คือ ผู้บริโภค 1 คนสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการบริโภคภาคเอกชนประมาณ 80,000 บาท

เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ตัวน้อย ๆ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ที่ต้องเอาเงินถึงมือเพราะต้องเร่งช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ บรรเทาภาระต่าง ๆ และช่วยให้เกิดการใช้จ่ายได้เร็ว เงินยิ่งหมุนเร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น ผลที่เห็นคือเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ

โครงการสำคัญ ๆ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว ได้แก่ 1) โครงการเราไม่ทิ้งกัน มีผู้ได้รับสิทธิจำนวน 15.3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย รับจ้าง ลูกจ้าง จะได้รับเงินจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 คิดเป็นเม็ดเงินที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 230,000 ล้านบาท

2) โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาอื่นมีจำนวน 1.1 ล้านคน ได้รับเงินจำนวน 3,000 บาทครั้งเดียว คิดเป็นเม็ดเงินที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท

3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.7 ล้านคน เป็นวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-ธันวาคม 2563 และระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 รวมเป็นระยะเวลา 6 เดือน เป็นเม็ดเงิที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท

4) โครงการคนละครึ่ง มีผู้ใช้สิทธิ 14.8 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมทะลุ 93,000 ล้านบาทไปแล้ว โครงการนี้วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก

โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปลง 50% และภาครัฐช่วยจ่ายอีก 50% ของราคาสินค้า (copay) ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และใช้จ่ายในร้านค้ารายเล็กที่ไม่เป็นนิติบุคคล เช่น ร้านหมูปิ้ง ร้านอาหารตามสั่ง ร้านน้ำผลไม้ปั่น หาบเร่แผงลอย เป็นต้น ผ่านแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมประมาณ 1.2 ล้านร้านค้า

5) โครงการเราชนะ ครอบคลุมคนประมาณ 31 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน จ่ายให้เป็นรายสัปดาห์จนครบ ยอดการใช้จ่ายสะสมทะลุ 96,000 ล้านบาทไปแล้ว โครงการนี้สามารถสะสมยาวไปใช้ได้จนถึงสิ้นพฤษภาคม 2564 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนและร้านค้ารายเล็กรายน้อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

นอกจากนี้ บริการรถสาธารณะ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊ก สองแถว สามารถเข้าโครงการโหลดแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” เพื่อรองรับแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ได้ ที่สำคัญผู้มีรายได้น้อยก็สามารถใช้บัตรสวัสดิการกับโครงการนี้ได้

จะเห็นว่าโครงการต่าง ๆ ข้างต้นครอบคลุมผู้บริโภคประมาณ 35-40 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจรวม ๆ แล้วประมาณ 5 แสนล้านบาท เม็ดเงินเหล่านี้ช่วยกันผลักดันให้การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาส 4 ปี 2563 และแน่นอนว่าโครงการต่าง ๆ ที่ยังดำเนินการอยู่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2564 ต่อไป