ลุ้น ก.ล.ต.ตีกรอบบทวิเคราะห์ จบไตรมาส3/สกัดซ้ำรอย BTS-บล.ภัทร

นายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯออกโรงหารือ ก.ล.ต. วางแนวทางทำบทวิเคราะห์ให้ชัดเจน หวังไม่ให้เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หวั่นซ้ำรอยกรณี BTS ร้องเรียนบทวิเคราะห์ บล.ภัทร ด้านบัวหลวงโอดนักวิเคราะห์ทำงานลำบากยิ่งขึ้น เข้มงวดมากขึ้น ฟาก ก.ล.ต. ลั่นไม่ต้องกลัวผิด หากทำบทวิเคราะห์บนจรรยาบรรณของวิชาชีพ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมกำลังร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงการวางแนวทางการจัดทำบทวิเคราะห์ ที่ไม่ผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯฉบับปรับปรุงใหม่ ว่า น่าจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ก.ล.ต.,สมาชิกนักวิเคราะห์การลงทุน, ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 3/2560 นี้

“ยอมรับว่ายังมี 2 – 3 ประเด็นของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่ยังคงคลุมเครือและตีความได้ยาก อาทิ การตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาทั้งจากผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทว่า จริงหรือไม่ 2.ข้อมูลที่เปิดเผยทั้งผ่านเว็บไซต์หรือผู้บริหารพูดในงานพบนักวิเคราะห์สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ หรือต้องรอให้บริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯก่อน เป็นต้น ทำให้นักวิเคราะห์อาจเกิดความไม่แน่ใจในการเขียนบทวิเคราะห์ เพราะก่อนออกบทวิเคราะห์ของแต่ละบริษัท นักวิเคราะห์จำเป็นต้องคำนวณข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนเผยแพร่บทวิเคราะห์ให้ลูกค้า ส่วนการทำข้อมูลเท็จและข้อมูลอินไซด์ เป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์ทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้วว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและเป็นความผิด” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับกรณี บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ก.ล.ต.เพื่อขอให้ตรวจสอบรวมไปถึงการกล่าวโทษต่อบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทรและนักวิเคราะห์ของบริษัทนี้ ในกรณีบทวิเคราะห์หุ้น BTS ของ บล.ภัทรให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและการตัดสินใจลงทุน ทำให้ผู้ถือหุ้น, นักลงทุน และบริษัทได้รับความเสียหายนั้น นายไพบูลย์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของ ก.ล.ต. ขณะที่คู่กรณีไม่ได้ร้องเรียนมาทางสมาคม ดังนั้น จึงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีนี้ แต่หาก ก.ล.ต.ขอความคิดเห็นในฐานะคนในวิชาชีพ ทางสมาคมก็พร้อมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น จะทำให้นักวิเคราะห์ทุกคนรอบคอบมากขึ้น

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล.บัวหลวง กล่าวว่า กรณีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แห่งหนึ่งร้องเรียนนักวิเคราะห์ ถือว่าเป็นกรณีแรกในไทย ทำให้การทำงานของนักวิเคราะห์อาจต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ทำให้นักวิเคราะห์ทำงานค่อนข้างยากลำบากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริหารมักไม่ค่อยให้ข้อมูลบริษัทเหมือนแต่ก่อน เพราะกลัวว่าจะผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์มีน้อยลง ขณะที่หากทำบทวิเคราะห์บางบริษัทออกมาไม่ดีก็อาจถูกร้องเรียนได้

“หลังจากนี้การทำบทวิเคราะห์ก็เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งต้องเก็บข้อมูลไว้ให้ดีหรือหากไปเยี่ยมชมบริษัทจดทะเบียนหรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลก็ต้องอัดเทปไว้ด้วย เพื่อเป็นการมีข้อมูลอ้างอิงและยืนยันกรณีถูกทางการตรวจสอบ” นายชัยพรกล่าว

นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายบังคับใช้กฎหมาย สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นในกรณี BTS ได้ส่งเรื่องร้องเรียนต่อ บล.ภัทรและนักวิเคราะห์แล้ว โดยมองว่าหากนักวิเคราะห์มีการทำบทวิเคราะห์บนพื้นฐาน แล้วผลดำเนินงานของบริษัทนั้น ออกมาไม่ตรงกับบทวิเคราะห์ที่ออกมา ก็ถือว่า “ไม่ผิด” แต่หากข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์ “ผิด” ก็อาจจะต้องดูว่า มีเจตนาหรือจงใจหรือไม่ซึ่งจะมีการพิสูจน์ตามหลักกฎหมาย

ส่วนกรณีจะกล่าวโทษหรือไม่นั้น ยังอยู่ในการพิจารณาในเบื้องต้น และอาจจะมีการขอความเห็นจากสมาคมนักวิเคราะห์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญมาประกอบการพิจารณาด้วย

“ถ้าหากนักวิเคราะห์ทำบทวิเคราะห์บนจรรยาบรรณของวิชาชีพก็ไม่ต้องกลัว เพราะถือว่าไม่ผิด แต่หากทำไปไม่ตรงตามวิชาชีพหรือจงใจให้ข้อมูลที่เป็นเท็จอันนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ” นายสมชายกล่าว