หุ้น “DELTA” บวกแรงสวนตลาด ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งชี้แจงข้อมูล

หุ้นไทย

วันที่ 12 พฤษฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปิดที่ 1,571.85 จุด ลดลง 7.08 จุด หรือลดลง 0.45% มีมูลค่าการซื้อขายรวม 117,160.52 ล้านบาท ระหว่างวันดัชนีแกว่งผันผวนอย่างมาก โดยมีจุดต่ำสุดที่ 1,557.94 จุด และสูงสุดที่ 1,578.34 จุด

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ประกาศให้หลักทรัพย์ DELTA หรือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย เนื่องจากมีระดับราคาและปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงก่อนหน้า และอยู่ระหว่างบริษัทชี้แจงข้อมูล (Trading Alert List) โดยราคาเปิดอยู่ที่ 486 บาท มาปิดที่ 558 บาท เปลี่ยนแปลง 94 บาท หรือบวก 20.26% มูลค่าการซื้อขาย 9,602 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 528.44 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ ราคาหุ้น DELTA พลิกกลับมาบวกร้อนแรงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน นับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่บวกไป 52 บาท หรือ 16.51% ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม บวกไป 35 บาท หรือ 9.54% ขณะที่สัปดาห์นี้ราคายังพุ่งแรงต่อเนื่อง โดยวันที่ 10 พฤษภาคมบวกไป 54 บาท หรือ 13.43% และ วันที่ 11 พฤษภาคม บวกไป 8 บาท หรือ 1.75% กระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม บวกอีก 94 บาท หรือ 20.26% จนตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเตือน Trading Alert

โดยปัจจุบัน DELTA มีสัดส่วนการถือหุ้นรายย่อย หรือ ฟรีโฟลต (Free Float) ต่ำกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่  6 พฤษภาคม นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงว่า ข้อสรุปการเปิดรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) การปรับคำนวณดัชนีโดยใช้ปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float Adjusted Market Capitalization) ความเห็นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงได้ชะลอการบังคับใช้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมออกไปก่อน

โดยได้พิจารณาแล้วว่า จะยังไม่ปรับน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวด้วยเกณฑ์ฟรีโฟลท และในอนาคตสิ่งที่ ตลท.จะทำต่อคือการศึกษาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะตรงความต้องการของนักลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ที่อยากได้ดัชนีที่เป็นการปรับน้ำหนักด้วยเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน ตลท.ทำได้เลยขึ้นอยู่กับความต้องการของคนที่จะออกโปรดักต์นี้

“การแก้ปัญหาโดยการปรับน้ำหนักของหุ้นในแต่ละดัชนี เบื้องต้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งทำให้เราต้องมีการเตือนนักลงทุนตั้งแต่แรกว่าราคาหุ้นพวกนั้นมีการปรับตัวโดยไม่มีเหตุผลรองรับ ซึ่งแปลว่าต่อไปตลท.จะมีการควบคุมดูแลที่ใกล้ชิดและรวดเร็วขึ้น เพื่อดูแลไม่ให้ตลาดหุ้นมีการเคลื่อนไหวผิดปกติในกรณีไม่มีข้อมูลหรือเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้น” นายภากรกล่าว