“เช่าซื้อ” ตั้งรับลูกหนี้ “คืนรถ” ธปท.จัดไกล่เกลี่ยหนี้ลีสซิ่งอุ้มกลุ่ม NPL

เช่าซื้อรถ

ธุรกิจ “เช่าซื้อ” รับลูกแบงก์ชาติอุ้มลูกหนี้ชำระไม่ไหวเลือก “คืนรถ” ได้ “แบงก์-น็อนแบงก์” พร้อมช่วยลูกค้าได้รับผลกระทบโควิดรุนแรง-ไม่ทุกราย หวั่นเกิด “จงใจไม่ชำระหนี้” ชี้หลายแห่งมีคืนรถได้อยู่แล้ว “MTC” ลั่นแฮร์คัตหนี้ให้ด้วยหากขายทอดตลาดแล้วหนี้ยังเหลือไม่เกิน 2 พันบาท ด้าน ธปท.จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ 1 มิ.ย.-31 ก.ค.นี้ ขยายเกณฑ์ช่วยลูกหนี้เอ็นพีแอลไม่เกิน 180 วัน

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้ลูกหนี้เช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถสามารถเลือกคืนรถได้หากผ่อนชำระไม่ไหวนั้น บริษัทจะพิจารณาอนุมัติให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพื่อป้องกันการเกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (moral hazard)

“หากลูกค้าที่เดือดร้อนไม่สามารถผ่อนชำระได้เลือกที่จะคืนรถ บริษัทจะทำผ่านตัวกลางในการขายทอดตลาด โดยหากวงเงินประมูลขายขาดทุนน้อยกว่า 5 หมื่นบาท จะไม่มีการฟ้องร้อง หรือหากขาดทุนมากกว่า 5 หมื่นบาท บริษัทจะเจรจากับลูกหนี้ เพื่อให้ชำระหนี้คงค้างที่เหลือตามความสามารถของลูกหนี้ เช่น ยอดหนี้ 2 แสนบาท ประมูลขายได้ 1.5 แสนบาท ที่เหลืออีก 5 หมื่นบาท ก็มาเจรจาเพื่อผ่อนชำระต่อไป”

นายวิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระลอก 3 มีลูกค้าขอความช่วยเหลือ ทั้งพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมเคยโทร.ติดต่อสอบถามเฉลี่ยวันละ 400 ราย ตอนนี้เพิ่มเป็น 2,000 รายต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ส่วนจะมีคนมาคืนรถมากน้อยแค่ไหนยังต้องรอดูอีกสักระยะ

นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารก็มีการให้ลูกค้าคืนรถได้อยู่แล้ว โดยลูกค้าที่ผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวส่วนใหญ่จะนำรถมาคืนเอง เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการติดตาม และเมื่อธนาคารนำขายทอดตลาดเรียบร้อย กรณีที่วงเงินคงเหลือก็คืนลูกค้า แต่หากยังมีภาระหนี้คงเหลืออยู่ ธนาคารจะเจรจากับลูกค้าในการผ่อนชำระหนี้ตามกำลังความสามารถของลูกค้าต่อ

“ลูกค้าชำระไม่ไหวก็มีนำรถมาคืน เป็นเรื่องปกติ แต่เราไม่อยากให้ตลาดตกใจแห่เอารถมาคืนทั้งหมด แต่อยากให้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ ใช้วิธียืดขยายเทอมการชำระหนี้และผ่อนตามกำลัง เพราะลูกค้ายังสามารถใช้รถในการประกอบอาชีพได้”

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทก็มีการให้ลูกค้าคืนรถ หากลูกค้าได้รับผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถผ่อนชำระได้ โดยหากเปิดประมูลแล้ววงเงินที่ได้ยังไม่เพียงพอกับมูลหนี้คงเหลือ บริษัทจะพิจารณาให้ส่วนลดหนี้ (hair cut) ให้ กรณีเหลือยอดหนี้คงค้างน้อยราว 1,000-2,000 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินกู้ของลูกค้าแต่ละรายค่อนข้างน้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 หมื่นบาทเท่านั้น

“ตอนนี้สัดส่วนการยึดรถของบริษัทค่อนข้างทรงตัว ไม่ได้มีสัญญาณเพิ่มแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิดระลอก 3 โดยอัตราการยึดรถจักรยานยนต์อยู่ที่ราว 1,400 คันต่อเดือน และรถยนต์ราว 30 คันต่อเดือนจากฐานลูกค้าของบริษัทที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย ถือว่าค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งมาจากฐานลูกค้าของบริษัท 90% เป็นกลุ่มอาชีพเกษตรกร ซึ่งยังชำระปกติมีเพียง 10% ที่เป็นกลุ่มอาชีพอิสระ”

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในกรณีที่ลูกค้ามีความประสงค์ขอคืนรถ แต่ลูกค้าจะยังคงมีภาระผูกพันที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาหลังมีภาระหนี้คงเหลือจากการประมูล บริษัทมีแนวทางหลากหลายในการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมเช่น การผ่อนชำระ หรือพิจารณาส่วนลดหนี้ให้ ทั้งนี้ จะเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างลูกค้ากับกรุงศรี ออโต้

ด้านแหล่งข่าวสถาบันการเงิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงวันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 2564 ธปท.จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อโดยหลักเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น ธปท.ได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ให้ช่วยพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่ไม่เกิน 180 วัน เพิ่มเติม จากเดิมที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ไม่เป็นเอ็นพีแอลเท่านั้น

นอกจากนี้ มีมาตรการสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ในส่วนของมาตรการคืนรถ โดยให้สถาบันการเงินพิจารณาตามความเหมาะสม หากมีการประมูลขายทอดตลาดและเหลือมูลหนี้คงค้าง สถาบันการเงินอาจจะพิจารณาให้ผ่อนชำระตามความสามารถ โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลา 2-3 ปี หรืออาจจะพิจารณายกหนี้ให้กรณีมูลหนี้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของสถาบันแต่ละแห่ง โดย ธปท.จะส่งรายชื่อลูกหนี้ให้กับสถาบันการเงินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

“สิ่งที่เพิ่มเติม คือ ธปท.อยากให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว ส่วนการคืนรถ อาจจะไม่ได้ประกาศเป็นทางการ เพราะจะทำให้ตลาดตกใจและเกิด moral hazard ได้ อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือทั้งหมดจะขึ้นกับแบงก์ น็อนแบงก์เป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบลูกค้าอีกครั้ง”