รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนทะลุ 1.3 แสนล้าน AOT นำโด่งเบิกจ่ายสะสมมากสุด

สคร. กำกับรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนทะลุเป้า 101% มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท พร้อมเปิด 5 อันดับ รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายสะสมสูงสุด

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2564 รัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรงมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม เป็นไปตามแผน โดยสามารถเบิกจ่ายได้ 130,423 ล้านบาท หรือคิดเป็น 101% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม 128,853 ล้านบาท

ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบลงทุน 7 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 – เดือน เม.ย. 2564) 34 แห่ง จำนวน 95,168 ล้านบาท หรือคิดเป็น 100% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และการเบิกจ่ายงบลงทุน 4 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (เดือน ม.ค.2564 – เม.ย. 2564) 9 แห่ง จำนวน 35,255 ล้านบาท หรือคิดเป็น 105% ของแผนเบิกจ่ายสะสม

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผนและมีการเบิกจ่ายสะสมสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เบิกจ่าย 43,472 ล้านบาท คิดเป็น 93% ของแผนเบิกจ่าย 2.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบิกจ่าย 25,046 ล้านบาท คิดเป็น 102% ของแผนเบิกจ่าย 3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เบิกจ่าย 10,0647 ล้านบาท คิดเป็น 103% ของแผนเบิกจ่าย 4.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ) เบิกจ่าย 9,540 ล้านบาท คิดเป็น 103% ของแผนเบิกจ่าย และ 5. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เบิกจ่าย 9,272 ล้านบาท คิดเป็น 103% ของแผนเบิกจ่าย

“ในเดือน เม.ย. 2564 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นไปตามแผน ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจหลายแห่งอยู่ระหว่างการปรับแผนการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อให้เหมาะสมกับการเบิกจ่ายที่แท้จริงและพิจารณานำโครงการ/แผนงานที่สามารถเบิกจ่ายได้มาทดแทนโครงการ/แผนงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับโครงการลงทุนที่เริ่มมีการเบิกจ่ายล่าช้า สคร. ได้เร่งหาสาเหตุและติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายและช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในเรื่องการลงทุนภาครัฐต่อไป”

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2564 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผนหรือสูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ของ รฟม. เบิกจ่าย 8,598 ล้านบาท คิดเป็น 103% ของแผนเบิกจ่าย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) เบิกจ่าย 9,141 ล้านบาท คิดเป็น 128% ของแผนเบิกจ่าย และโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ของ รฟท. เบิกจ่าย 4,807 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของแผนเบิกจ่าย

ส่วนงานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค เบิกจ่าย 2,343 ล้านบาท คิดเป็น 207% ของแผนเบิกจ่าย และโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 12 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เบิกจ่าย 1,447 ล้านบาท คิดเป็น 103% ของแผนเบิกจ่าย เป็นต้น

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) และโครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ของ รฟท. โครงการแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง และโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ของ กฟภ.