แก้ปม “การคลัง” เสี่ยง 5 เดือนสุดท้าย “โจทย์หิน” ท้าทายรัฐบาล

คลัง-เงิน

โจทย์ยากสำหรับรัฐบาลขณะนี้ นอกจากเรื่องที่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ และ เร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วแล้ว ประเด็นเรื่อง “ฐานะการคลัง” ยังเป็นอีกเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา

เพราะเดิมทีเดียวกระทรวงการคลังเสนอให้ใส่วัตถุประสงค์ “พิเศษ” ไว้ในร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉบับใหม่ที่จะออกมากู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ

ได้แก่ เพื่อแก้ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19, เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 แล้ว

ยังเปิดช่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถอนุมัติให้กระทรวงการคลังนำวงเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ ไปใช้เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีจำเป็นได้อีกด้วย

Advertisment

นั่นเพราะประเมินว่าสถานการณ์โควิดยังยืดเยื้อ, มีความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัส, เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจนเติบโตได้เพียง 2.3% ในปี 2564, สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดมาตั้งแต่ปี 2563

ขณะที่เศรษฐกิจปีนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาการระบาด แต่แหล่งเงินที่สามารถนำมาใช้ได้ล้วนมีข้อจำกัด

ซึ่งแม้ว่าที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 จะเห็นชอบในหลักการกับข้อเสนอข้างต้น

ทว่า สุดท้ายแล้วเมื่อพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564

Advertisment

ปรากฏว่าวัตถุประสงค์ “พิเศษ” ดังกล่าว “ถูกตัดทิ้ง” ไป พร้อม ๆ กับวงเงินกู้ที่หายไป 2 แสนล้านบาทด้วย คือรัฐบาลจะมีการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาทเท่านั้น

โดย “แพตริเซีย มงคลวนิช” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เดิมเป็นเพียงร่าง พ.ร.ก. แต่ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมฉบับที่มีผลบังคับใช้แล้วนั้น มีวัตถุประสงค์เพียง 3 เรื่อง ไม่ได้มีเรื่องการบริหารสภาพคล่องทางการคลังแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติกรอบกู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท แต่เมื่อเห็นกฎหมายแล้วจำนวนที่ให้กู้คือ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น ในส่วน 2 แสนล้านบาทก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้ว

ซึ่งกรณีที่ตัดเรื่องปิดหีบงบประมาณออกไปแล้วจะบริหารอย่างไรนั้น ทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็ดูเรื่องนี้อยู่ คิดว่ารายได้อาจจะไม่ได้ตามเป้า แต่ก็ต้องบริหารรายจ่ายด้วยทั้งนี้ ต้องติดตามว่าระยะต่อไปจะมีช่องทางไหนบ้างที่จะมาดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้จนสิ้นปีงบประมาณ” นางแพตริเซียกล่าว

ขณะที่สถานการณ์จัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2564 ช่วง 7 เดือนแรก (ต.ค. 2563-เม.ย. 2564) ยังคงต่ำกว่าประมาณการต่อเนื่อง แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง

โดยรัฐบาลต้องกู้ชดเชยขาดดุลมากขึ้น แต่กรอบที่สามารถกู้ชดเชยขาดดุล รวมกับกู้ชดเชยรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณนี้อยู่ที่ราว 7.29 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมีโอกาสทะลุเพดานตามกรอบนี้ค่อนข้างสูง เพราะปีงบประมาณก่อนหน้าก็มีการกู้แทบทะลุเพดานไปรอบหนึ่งแล้ว

ล่าสุด “กุลยา ตันติเตมิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1.22 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.28 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 9.5% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 78,284 ล้านบาท หรือลดลง 6%

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลบอกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ตัดวัตถุประสงค์ “พิเศษ” เรื่องการใช้เงินกู้บริหารสภาพคล่องทางการคลังออกไป และให้เขียนไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนว่า จะใช้เงินกู้ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลักเท่านั้น

ดังนั้น ในช่วงอีก 5 เดือนที่เหลือก่อนจบปีงบประมาณ กระทรวงการคลังต้องไปบริหารจัดการ ซึ่งที่ทำได้ก็คือ การเพิ่มรายได้ และ ลดรายจ่าย หรือชะลอการใช้จ่ายเงินในบางโครงการออกไป

“ปัจจุบันเงินคงคลังระดับกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นเงินของส่วนราชการต่าง ๆ ที่ฝากไว้ ดังนั้น ส่วนนี้ก็อาจจะต้องลดลงไป แล้วหากถึงขั้นเงินคงคลังใกล้จะหมด ตอนนั้นก็คงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินมาปิดหีบงบประมาณ” แหล่งข่าวกล่าว

เรียกได้ว่าช่วง 5 เดือนสุดท้ายที่เหลือนี้ เป็นช่วงที่ท้าทายรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องจับตาว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการปัญหานี้อย่างไรต่อไป