6 แบงก์ ผนึกยักษ์ธุรกิจ “เดอะมอลล์” อุ้มซัพพลายเออร์-เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุน

6 แบงก์ใหญ่ “กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-กรุงศรีอยุธยา-ออมสิน-กรุงไทย” ผนึกกำลังยักษ์ธุรกิจ “เดอะมอลล์” อุ้มธุรกิจเอสเอ็มอี-ซัพพลาย-ร้านค้ารายย่อย ช่วยเข้าถึงสินเชื่อ ฝ่าวิกฤตโควิด

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกนับว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด ถึง 9 ล้านคน คือเป็น 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด

นับแต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทางบริษัทได้มีนโยบายในการช่วยเหลือคู่ค้า และผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ การรณรงค์ “ฉีดวัคซีน เพื่อชาติ”, การ “บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19”, การ “สนับสนุน SME และเกษตรกรไทย”

ในขณะที่มาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู SOFT LOAN และเพิ่มศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย ได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยวางเป้าหมายช่วยดูแลช่วยเหลือคู่ค้า ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย รวมกว่า 6,000 ราย

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 และทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้”  นางสาวศุภลักษณ์ กล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ไทยหดตัวมากที่สุดในภูมิภาค เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยว และภายหลังจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วง ๆ และธุรกิจภาคการค้าและบริการ รวมถึงเอสเอ็มอีได้ถูกซ้ำเติม ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเร่งได้รับการเยียวยา

“ความร่วมมือวันนี้ จะช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องของความเสี่ยงเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการที่มีคู่ค้าจะแข็งแรงขึ้น และสถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อและสามารถขยายฐานลูกค้ามากขึ้น และภาครัฐเองก็สามารถยื่นมือช่วยแก่ผู้ที่ต้องการช่วยได้ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ขยายผลโครงการนี้ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี เพราะจะเห็นว่าเอสเอ็มอีกว่า 1.1 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 7.5 ล้านคน ถือเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจช่วยสร้างโอกาสให้เข้าถึงสินเชื่อดีขึ้น แม้ว่าจะช่วยไม่ได่ทุกคน แต่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทุกระดับชั้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกรายย่อย และเอสเอ็มอี และมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะอยู่ไปอีกนาน ทำให้ธุรกิจต้องเตรียมสภาพคล่องเพื่อประคองธุรกิจ ทั้งในส่วนของธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นผู้เล่นหลัก ห้างสรรรพสินค้า ซัพพลายเออร์ และผู้ค้ารายปลีก โดยธนาคารพร้อมดูแลลูกค้าอย่างเหมาะสมทันการณ์

ทั้งนี้ โควิด-19 ก่อให้เกิดการปรับตัว 3 ช่วง คือ 1.การประคองตัวไปให้ได้ โดยดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการและพนักงานของตนเองได้ 2.การฟื้นฟูธุรกิจ เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ลูกค้ามีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาบริการและผลิตสินค้าให้ได้ครบตามคำสั่งซื้อ ธนาคารก็จะให้การสนับสนุนในเรื่อง Working Capital และ 3. เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง อาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Business Model ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยทั้ง 3 ช่วงมีความสำคัญทุกช่วง ซึ่งยืนยันถึงจุดยืนของธนาคารกรุงเทพ ในการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน”

โดยในปี 2563 ธนาคารกรุงเทพและธนาคารอื่นได้ให้ความร่วมมือผ่านมาตรการช่วยเหลือผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยเป็นสภาพคล่องของธนาคารเองและของภาครัฐ ซึ่งสามารถช่วยลูกค้าได้ค่อนข้างมาก สามารถดูแลการจ้างงาน และรักษาธุรกิจไว้ได้ แต่ภายหลังจากการระบาดระลอก 3 ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวอีกครั้งหลังจากเมื่อต้นปีทยอยดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาภาครัฐและธปท.ได้ออกพ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ออกมาในจังหวะพอดีที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารมี 2 วัตถุประสงค์ คือ 1.เสริมสร้างสภาพคล่องประคองธุรกิจ และ 2.ฟื้นฟูธุรกิจให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ (Restart) หลังเหตุการณ์คลี่คลาย

นอกจากนี้ ธนาคารได้เปิดให้สินเชื่อกับธุรกิจ Micro SME ที่มีวงเงิน 5 แสนบาท-1.5 ล้านบาท ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสินเชื่อฟื้นฟู โดยเปิดกว้างแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดย่อมที่มีวงเงินตั้งแต่ 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก และมีบสย.ค้ำประกัน ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดวงเงินไว้ 3 ระดับ คือ วงเงิน 5 แสนบาท 1 ล้านบาท และ 1.5 ล้านบาท โดยธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อภายใน 7-14 วัน ตลอดจนมีสินเชื่อฟื้นฟูห้างสรรพสินค้าอีกด้วย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของห้างสรรพสินค้า ทั้งซัพพลายเออร์ และร้านค้าในพลาซ่าต่าง ๆ เน้นการอนุมัติเร็วเช่นกัน หรือธุรกิจ Micro SME ที่เข้าไม่ถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ธนาคารก็พร้อมจะช่วยเหลือภายใต้สินเชื่อของธนาคาร

“เรามองว่ามาตรการชุดใหม่นี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการสามารถประคองตัวไปได้จนกว่าวัคซีนจะได้มากพอเหมือนที่ต่างประเทศ เช่น อิสราเอล อังกฤษ และสหรัฐ ที่สามารถออกมาใช้ชีวิตปกติได้ กล้าใช้ชีวิต กล้าใช้จ่าย และจะนำเศรษฐกิจไทยโดยรวมและธุรกิจไทยเข้าสู่ช่วงที่สอง คือเริ่มต้นรีสตาร์ตใหม่ และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงที่สาม คือ ปรับโครงสร้าง ปรับ Business Model ที่ธนาคารจะทยอยออกสินเชื่อและการสนับสนุนรูปแบบต่าง ๆ มาช่วยรองรับต่อไป และเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปด้วยกัน”

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ทุกคนไม่ได้เตรียมตัวเผชิญวิกฤตโควิด กระทบต่อเศรษฐกิจไทย และของโลก โดยไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง จึงทำให้ภาคธุรกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบโควิด รอบที่ 3 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทา และเยียวยาในเรื่องการปรับปรุงซอฟต์โลน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงสภาพคล่อง โดยซอฟต์โลนเดือน เม.ย. 64 ที่ออกมา ธนาคารได้ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วกว่า 5,000 ราย เป็นวงเงินกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งมีความต้องการช่วยผู้ประกอบการอีกมากที่ได้รับผลกระทบ และยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

สำหรับสภาพที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นผลกระทบที่ฉับพลัน ทำให้ความเชื่อมั่นของคนในประเทศลดลง การเดินทางการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวลง ทำให้กิจกรรมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ถูกผลกระทบโดยถ้วนหน้า ซึ่งหากมองว่าการเข้าถึงเงินกู้ซอฟต์โลนครั้งนี้ จะเข้าถึงอย่างรวดเร็วได้อย่างไรนั้น ธนาคารได้ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ ที่จะทำในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อเอสเอ็มอีไทย เป็นการร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งธนาคาร ผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายกลางกับรายเล็ก ที่ทำการค้าร่วมเดอะมอลล์ โดยสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องเยียวยาและฟื้นฟู การปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อรองรับกับการที่ไทยจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะสามารถฉีดวัคซีนได้จำนวนมาก

“การเยียวยาอย่างเดียวจะไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นนานเกินกว่า 1 ปี แล้ว ทำให้สภาพแวดล้อม ธุรกิจโมเดล การบริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ที่ต้องการจะเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลน โดยเฉพาะจากธนาคารไทยพาณิชย์ การที่เข้ามาหาแบงก์แล้วมีแผนการดำเนินธุรกิจ มีกำลังจะสู้ มองวิกฤตให้เป็นโอกาส การปรับตัวเอง เรื่องการลดต้นทุน ช่องทางการจำหน่าย และนำเทคโนโลยีมาปรับวิธีการทำธุรกิจ ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาประกอบการให้สินเชื่อของแบงก์ด้วย เพราะสินเชื่อของการเยียวยาในช่วงสั้นอาจไม่เพียงพอในระยะยาว”

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากรายงานตัวเลขของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นสัดส่วน 35% ของจีดีพี มีการจ้างงาน 12% หรือคิดเป็น 70% ของการจ้างงานทั้งหมด จากผู้ประกอบการที่มีอยู่ 3 ล้านราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มค้าปลีกที่สร้างรายได้สัดส่วน 7% ของจีดีพี ถือว่ามีความสำคัญมากของประเทศ

โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างมากหลังจากเกิดระบาดโควิด-19 ภาครัฐ กระทรวงการคลัง และธปท.ได้ออกมาตรการดูแลทุกกลุ่ม โดยธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการซอฟต์โลนและมาตรการอื่นๆ ทั้งลูกค้ากลุ่มธุรกิจและบุคคลรวมกว่า 3.19 แสนล้านบาท แต่หากคิดเฉพาะลูกค้าธุรกิจคิดเป็นวงเงิน 9.35 หมื่นล้านบาท หรือราว 3.26 หมื่นราย โดยมีทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้สินเชื่อเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานผ่านแคมเปญดอกเบี้ย 0%

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และภาคธุรกิจ คือ การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไป โดยภาครัฐและธปท.ได้ยกระดับและเรียนรู้จากโควิด-19 รอบแรก ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันจึงเป็นที่มาของสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ โดยในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้านบาท จำนวน 1 หมื่นราย และโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้อีกราว 1 หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้เราอยู่ในสงครามเราไม่มีการทะเลาะกัน แม้ว่าอาจจะทำผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ทุกคนต้องการทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน เช่นเดียวกับกสิกรไทยที่ดูแลสินเชื่อเอสเอ็มอี ทำดีก็มีมาก พลาดก็มีเยอะ โดยเราจะเอามาเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น”

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปตามแนวทางของธปท. ทั้งการขยายเวลาการชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (RM) ติดต่อลูกค้าเชิงรุกที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อช่วยเหลือลูกค้า

อย่างไรก็ดี โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และลูกค้ามีความเปราะบาง ซึ่งธนาคารได้ช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงที่ลูกค้าเผชิญความยากลำบากธนาคารจะช่วยให้ลูกค้าผ่านพ้นไปได้ และ 2.ธนาคารพยายามสนับสนุนสินเชื่ออื่นๆ เพิ่มเติมให้ดำเนินธุรกิจได้ โดยส่วนหนึ่งผ่านมาตรการของธปท.ทั้งสินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์ พักหนี้

“เรามีฐานลูกค้าบุคคลค่อนข้างเยอะ ซึ่งนอกจากมีมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือของธปท.แล้ว เรายังมีมาตรกรเพิ่มเติม โดยให้ 2 พัก คือ พักชำระเงินต้น และพักชำระค่างวด และ 3 ปรับ ปรับลดจำนวนเงินค่างวด ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับประเภทวงเงินสินเชื่อ ซึ่งธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าในยามลำบาก เพื่อให้ผ่านพ้นไปได้”