ดอลลาร์แข็งค่า หลังบอนด์ยีลด์พุ่ง นักลงทุนจับตาผลประชุมเฟด

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าหลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่ง นักลงทุนจับตาผลประชุมเฟดคืนนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น กดดันค่าเงินเงินบาทเล็กน้อย ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 16 มิถุนายน 2564 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/6) ที่ระดับ 31.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/6) ที่ระดับ 31.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.504% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.212% เมื่อคืนนี้

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกปรับตัวลง 1.3% ในเดือนพฤษภาคม แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.8% ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนผิดหวังและวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% และหากเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI เดือนพฤษภาคมพุ่งสูงขึ้นถึง 6.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่รดับ 6.3%

โดยนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในช่วงคืนวันนี้ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าในการประชุมครั้งนี้เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะเริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ ในวันที่ 26-28 ส.ค. และจะเริ่มดำเนินการปรับลด QE ในเดือน ธ.ค. หรือต้นปีหน้า ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันนี้สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้น โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,331 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,305 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 26 ราย มีผู้เสียชีวิต 40 ราย

ปัจจัยดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทเล็กน้อย ทำให้ระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.15-31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (16/6) ที่ระดับ 1.2118/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/6) ที่ระดับ 1.2121/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระหว่างวัน หลังสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่ากลุ่มประเทศยูโรโซนมีตัวเลขเกินดุลการค้าในเดือนเมษายน มากกว่าถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว โดยได้ปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ยูโรโซนเกินดุลการค้า 1.09 หมื่นล้านยูโรในเดือนเมษายน เทียบกับระดับ 2.3 พันล้านยูโร ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 43.2% ส่วนการนำเข้าปรับเพิ่มขึ้น 37.4% อย่างไรก็ตามตัวเลขเกินดุลการค้าในเดือนเมษายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.58 หมื่นล้านยูโร

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2117-1.2140 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และเปิดตลาดที่ระดับ 1.2123/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/6) ที่ระดับ 110.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/6) ที่ระดับ 110.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนพฤษภาคมของญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 49.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับ 6.26 ล้านล้านเยน (5.7 หมื่นล้านดอลลาร์) หลังจากที่เพิ่มขึ้น 38% ในเดือนเมษายน

โดยยอดส่งออกเดือนพฤษภาคม ขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 41 ปี เพราะได้แรงหนุนจากความแข็งแกร่งของอุปสงค์รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.87 แสนล้านเยน หรือประมาณ 1.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 9.12 หมื่นล้านเยน และนับเป็นการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.90-110.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักร (16/6), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (17/6), ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (17/6) และดัชนียอดขายปลีกของสหราชอาณาจักร (18/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.10/0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.4/1.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ