ค่าเงินบาทอ่อนค่า ตลาดจับตาดูมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

เงินบาท-หุ้นไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/7) ที่ระดับ 32.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/7) ที่ระดับ 32.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิถุนายน โดยระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินในโครงการ QE โดยกรรมการเฟดส่วนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของเฟดที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเริ่มกลับมาดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงิน นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังเล็งเห็นว่า แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่าเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อคืนนี้ สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 1.8% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น และสต๊อกบ้านที่ตึงตัว แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวลดลง ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.2 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.39 ล้านตำแหน่ง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจับตาการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันยังอยู่ในระดับสูง โดยวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,058 ราย

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (9/7) โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขให้ยกระดับมาตรการต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.35-31.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (8/7) ที่ระดับ 1.1791/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/7) ที่ระดับ 1.1826/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่านายเปาโล เจนติโลนี คณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจเปิดเผยว่า เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ อันเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

โดยมีการปรับเพิ่มการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซนในปี 2564 เป็นขยายตัว 4.8% และปี 2565 เป็น 4.8% และอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนคาดว่าในปี 2564 จะอยู่ที่ 2.2% และในปี 2565 อยู่ที่ 1.6% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1784-1.1827 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1826/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/7) ที่ระดับ 110.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/7) ที่ระดับ 110.75/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวไปจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

ขณะที่ผู้จัดงานโตเกียว โอลิมปิกพิจารณาที่จะไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีกราว 2 สัปดาห์ โดยกรุงโตเกียวพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงถึง 920 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.77-110.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.05/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (8/8), อัตราเงินเฟ้อของจีน ประจำเดือนมิถุนายน (9/7), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหราชอาณาจักร (9/8), ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรในเดือนพฤษภาคม (9/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.00/+0.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.75/+5.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ