ดอลลาร์เคลื่อนตัวในกรอบแคบ ขณะตลาดจับตาประชุมเฟดสัปดาห์หน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (16/8) ที่ระดับ 33.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวทรงตัว จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 33.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนแห่งสหรัฐ ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ประจำเดือนสิงหาคมที่ระดับ 70.2 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 81.2 อีกทั้งกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคานำเข้าของสหรัฐประจำเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ณ ระดับ 0.6%

อย่างไรก็ตามนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในอัฟกานิสถาน หลังจากกลุ่มตาลิบันเข้ายึดครองทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูล ขณะที่ทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตัดสินใจถอนทหารของสหรัฐเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานล่มสลายอย่างรวดเร็ว ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนวันพุธ (18/8) ว่า ยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม ร่วงลง 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนก่อนหน้า

ส่วนทางด้านสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ NAHB ของสหรัฐ ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 5 จุด สู่ระดับ 75 ในเดือนสิงหาคม โดยมีสาเหตุจากสต๊อกบ้านที่มีจำกัด การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาบ้าน และต้นทุนในการก่อสร้าง นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคม ทั้งนี้คาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมดังกล่าว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันจันทร์ (16/8) นายตนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2564 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2% โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในภาคการส่งออก การให้การบริการด้านอาหาร ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 แสนคน จากประมาณการเดิม 5 แสนคน

นอกจากนี้ สศช.ยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีในปีนี้ลงโดยจากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1.5%-2.5% ปรับลดลงเหลือ 0.7%-1.2% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงานผู้ว่าฯ ธปท.พบสื่อมวลชน โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในการรับมือสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ มาตรการหรือแนวทางแก้ปัญหาที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้นั้น เห็นว่ามาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทและความจำเป็นอย่างมากที่จะเพิ่มมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย

โดยจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระทบกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีตัวคูณ (multiplier) สูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) อาทิ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อพร้อมกันนี้ยังมองว่าขนาดของรายได้ที่จะหายไปประมาณ 2.6 ล้านล้านคน ระหว่างปี 2563-65 จากผลกระทบของวิกฤตโควิดในประเทศนั้น เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด

ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มในขณะที่ประชาชนติดตามการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังจากที่ ครม.มีมติรับทราบการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส โดยเมื่อรวมกับการจัดหาก่อนหน้านี้้ 20 ล้านโดส ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนไฟเซอร์ชนิด mRNA ประมาณ 30 ล้านโดส คาดว่าจะส่งมอบได้พร้อมกันในช่วงไตรมาส 4/2564

ด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าหลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 7.5% ดีกว่าที่ ธปท. คาดไว้ที่ 6.6% แต่ ธปท.ยังไม่เปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจใหม่เพราะที่คาดไว้ยังอยู่ใกล้เคียงคาดทั้งปี 2564 GDP ขยายตัว 0.7% แต่ถ้าล็อกดาวน์ไปไตรมาส 4 อาจทบทวนลดลงเพราะแต่ละเดือนเศรษฐกิจถูกกระทบ 0.3-0.4% และยังเชื่อว่าโอกาส GDP คิดลบมีไม่มาก และยังได้แรงสนับสนุนจากการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.47-33.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (20/8) ที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (16/8) ที่ระดับ 1.1796/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 1.1747/4 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งได้รับแรงหนุนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจแห่งสหภาพยุโรปแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์

โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (13/8) สถาบัน Destatis ได้เปิดเผยดัชนีราคาส่งออกของเยอรมันประจำเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 1.1% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.9% ในวันพุธ (18/8) ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ ในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง จากผลของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1664-1.18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/8) ที่ระดับ 1.1673 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (16/8) ที่ระดับ 109.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/6) ที่ระดับ 110.28/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยวันจันทร์ (16/8) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่น (GDP) ประจำไตรมาส 2/2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่ม ณ ระดับ 0.1%

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจขยายตัวไม่มากนักในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

นอกจากนี้เงินเยนได้รับแรงซื้อในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในอัฟกานิสถาน ขณะที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (19/8) ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ปรับตัวลง 1.5% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด

โดยนายโยชิโอเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขอให้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในการลดจำนวนผู้เดินทางในระบบขนส่งมวลชน โดยหันมาทำงานจากที่บ้านแทน เนื่องจากญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงเหนือความคาดหมายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หลังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.10-109.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/8) ที่ระดับ 109.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ