ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ขานรับยอดขายบ้านใหม่เพิ่ม

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง ขานรับยอดขายบ้านใหม่เพิ่ม ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.82/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (29/9) ที่ระดับ 33.86/87 บาท/ดอลลาสหรัฐ

ดอลลาสหรัฐยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนกันยายน โดยจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในสิ้นปีนี้ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 1 ปี

สำหรับข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อคืนนี้ เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย พุ่งขึ้น 8.1% สู่ระดับ 119.5 ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4%

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจับตาสภาคองเกรสในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวและการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ โดยล่าสุดคาดว่าทางวุฒิสภาได้ทำการลงมติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในวันพุธที่ 29 กันยายนตามเวลาสหรัฐ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐให้มีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่รวมถึงการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ โดยประเด็นการเพิ่มเพดานหนี้จะมีการหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงกันหลังจากนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบโครงกรรักษาระดับจ้างงาน SME ตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ โดยในวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม 11,646 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,603,475 ราย

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.76-33.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.82/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (30/9) ที่ระดับ 1.1606/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (29/9) ที่ระดับ 1.1660/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนั้นยังไม่ค่อยสู้ดีนักและเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินเช่นกัน โดยอัตราการว่างงานในเยอรมนีในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 5.5% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 5.4% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1592-1.1610 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1598/00 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/9) ที่ระดับ 111.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ-(30/9) ที่ระดับ 111.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่นปรับตัวกว้างขึ้น

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มีการเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่นปรับตัวลง 3.2% เนื่องจากการผลิตรถยนต์ชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนชิปทั่วโลก และซัพพลายเชนที่สะดุดลง

นอกจากนี้ทางด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า BOJ จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป แม้ว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องอยู่ภายใต้การบริหารของนายฟูมิโกะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ตาม เนื่องจาก BOJ เล็งเห็นว่าการผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.80-112.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2564, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ภาคการผลิตเดือนสิงหาคมจากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนกันยายนจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.75/+0.85 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.25/+4.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ