อธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ “กุลยา” บริหารเชิงรุก หนุนรัฐปลุกเศรษฐกิจ

สัมภาษณ์

การใช้จ่ายภาครัฐ นับว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบกับปากท้องประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ล่าสุด “กุลยา ตันติเตมิท” ที่เพิ่งก้าวจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หน่วยงานมันสมองด้านเศรษฐกิจมหภาค มารับตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงนโยบายและบทบาทของกรมบัญชีกลางเพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

โดย “กุลยา” กล่าวว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งก็ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารกรมบัญชีกลางแล้ว ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากหากสามารถขับเคลื่อนเม็ดเงินให้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจ และสร้างแรงส่งให้กับเศรษฐกิจไปยังปีหน้าด้วย

พร้อมกันนี้ ได้ให้นโยบายเชิงรุก โดยขอให้คนกรมบัญชีกลางมองแนวโน้มของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และการปรับการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“จะนำความรู้จากที่ทำงานกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาใช้ แต่งานของกรมบัญชีกลางค่อนข้างจะเป็นการลงมือปฏิบัติ จึงต้องมองถึงสภาพแวดล้อมและเทรนด์ต่าง ๆ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่น กระแสดิจิทัล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีระบบแล้ว แต่จะต้องนำมาใช้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีการดูในเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) และให้ความสำคัญกับเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ด้วย”

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องการการขับเคลื่อนภาครัฐ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2565 เพื่อให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปีนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อฟื้นฟูในไตรมาส 1 ปีหน้า จึงมอบนโยบายว่า ให้กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ นอกจากมาตรการทั่วไปแล้ว จะมีการเตรียมลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีหน้า ซึ่งกรมบัญชีกลางจะต้องเป็นแกนนำสำคัญในการลงทะเบียนในแต่ละจังหวัด

“ฝ่ายนโยบายได้ให้เตรียมความพร้อมในการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแล้ว และกรมบัญชีกลางจะต้องให้สัญญาณว่า มีความพร้อมขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน โดยกำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะทำบัตรในลักษณะใด ถ้ายังเป็นบัตรรูปแบบเหมือนเดิม การคืนบัตร หรืออื่น ๆ ก็ยังผ่านที่กรม แต่จะต้องรอดูรูปแบบการใช้จ่าย และรูปแบบของบัตรรอบใหม่ด้วย”

ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น “กุลยา” กล่าวว่า จะต้องมีการเร่งรัด โดยเป้าหมายการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ทาง สศค.เป็นผู้กำหนด ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะตั้งเป้าไว้สูงที่ 100% เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2564 ที่กำหนดเป้า 100% ซึ่งสามารถเร่งรัดได้ 98% ดังนั้น ปีนี้กรมบัญชีกลางก็จะต้องทำให้ได้มากที่สุด ทั้งเรื่องการเบิกจ่ายและการก่อหนี้ผูกพัน

“ในปีงบประมาณ 2565 นี้ เม็ดเงินรายจ่ายตั้งไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ถือว่าลดลงมาค่อนข้างมากจากปีก่อน ดังนั้น ก็ต้องมีการใช้จ่ายให้หมดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

อธิบดีกรมบัญชีกลาง บอกว่า ยังได้มอบนโยบายเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย สามารถมีความยืดหยุ่น เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างคล่องตัว เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเข้าไปดูกฎระเบียบ หากส่วนใดล้าสมัยแล้ว ก็จะไม่นำมาใช้ ส่วนที่ยังต้องใช้ ก็จะมาดูว่าจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและระบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

“เรื่องกฎ ระเบียบ จะดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้างที่ทำให้การเบิกจ่ายคล่องตัว และสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตของประเทศ นอกจากนี้ ในระยะใกล้ก็ต้องมีการพิจารณาด้วย อย่างเช่น สถานการณ์น้ำท่วม กฎระเบียบมีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งกรมบัญชีกลางก็มีการเตรียมพร้อมไว้ ให้แต่ละจังหวัดสามารถเบิกจ่ายได้ 20 ล้านบาท โดยกรมจะติดตามด้วยว่าหากวงเงินไม่พอก็จะเตรียมขยายให้”

นอกจากนี้ อธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ บอกด้วยว่า จะมีการบูรณาการฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ทั้งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาค นำมาประมวลผลในเชิงลึก เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ขณะที่งานต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ จะเร่งรัดสะสางในทุกส่วน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่ยังติดปัญหา ก็จะเร่งดำเนินการให้เรียบร้อยตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

ด้วยการใช้จ่ายภาครัฐที่มีความสำคัญ และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเม็ดเงินมหาศาล หากกรมบัญชีกลาง ภายใต้การบริหารของอธิบดีคนใหม่ สามารถบริหารจัดการได้ไหลลื่น ก็จะหนุนช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นด้วย