คลังสั่งปิด “เอเชียประกันภัย” ดึงทิพยฯรับโควิด-คุ้มครองโคม่า

เอเชียประกันภัย

“เจอ-จ่าย-จบ” ฝันร้ายธุรกิจประกัน ยอดเคลมทะลักทุบบริษัทประกันบาดเจ็บสาหัส รมว.คลัง เซ็นคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต-ปิดกิจการ “เอเชียประกันภัย” ตั้งกองทุนวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชีจ่ายหนี้ พร้อมแผนถ่ายโอนลูกค้ากว่า 2 ล้านกรมธรรม์ ดึง “ทิพยประกันภัย” รับโอนลูกค้าโควิด 8 แสนฉบับ แปลงเป็นคุ้มครองภาวะโคม่า วงในมั่นใจไม่กระทบความเชื่อมั่น ฝั่งซีอีโอ “เดอะวันประกันภัย” ยันกลุ่มบิวตี้เจมส์ผู้ถือหุ้นพร้อมใส่เงินเพิ่มทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่บริษัทประกันวินาศภัยแห่ขายกรมธรรม์ประกันโควิด โดยเฉพาะประกัน “เจอ-จ่าย-จบ” ที่เป็นโปรดักต์มาแรงมีประชาชนสนใจซื้อประกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูง ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยพบว่า

ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 64 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท มียอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสมถึง 9,428 ล้านบาท โดยทางสมาคมคาดการณ์ว่า ช่วงสิ้นเดือน ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ยอดเคลมน่าจะพุ่งแตะ 2-2.5 หมื่นล้านบาท

โควิดทุบธุรกิจประกันสาหัส

แหล่งข่าวระดับสูงธุรกิจประกันวินาศภัยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณวิกฤตเคลมประกันโควิดตั้งแต่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 64 ก็เริ่มเห็นบริษัทประกันหลายรายที่เคยขายกรมธรรม์เจอ-จ่าย-จบ ก็แจ้งลูกค้าหยุดรับประกันใหม่ และต่อมาทางบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ก็ทำหนังสือถึงลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์เจอ-จ่าย-จบทั้งหมด แต่ก็ถูกทางสำนักงานคปภ. สั่งห้ามยกเลิก และช่วงในเดือน ส.ค.-ก.ย. 64 จากยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลัก 20,000 รายต่อวัน จนเกิดเอฟเฟ็กต์ยอดเคลมโควิดทะลักสูงถึงหลักหลายพันเคสต่อวัน

ส่งผลเริ่มเห็นปัญหาที่บริษัทประกันหลายรายไม่สามารถดำเนินการจ่ายค่าสินไหมให้ลูกค้าได้ตามกำหนด เนื่องจากมียอดเคลมเข้ามาจำนวนมาก จนเกิดเหตุการประท้วงตามหน้าสำนักงานบริษัทประกันหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท อาคเนย์ประกันภัย, สินมั่นคงประกันภัย, เดอะวันประกันภัย และบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด(มหาชน)

สั่งปิด “เอเชียประกันภัย”

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 64 คณะกรรมการ คปภ.มีมติให้เสนอความเห็นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยของบริษัทเอเชียประกันภัยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ รมว.คลังได้มีคำสั่งลงนามมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 64 เป็นต้นไป เนื่องจากเอเชียประกันภัยมีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายสินไหม

แม้จะออกมาตรการช่วยเหลือ แต่ตามระยะเวลาปรากฏว่า ติดตามความคืบหน้าเพิ่มทุนก็ไม่มีความชัดเจน ไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้น และไม่มีความชัดเจนในการร่วมทุนจากผู้ร่วมทุนรายอื่น บริษัทแจ้งว่าคงจะไม่สามารถเพิ่มทุนได้

ดังนั้น พิจารณาแล้วเป็นมาตรการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันภัย แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-14 ต.ค. 64 จะจ่ายสินไหมมากกว่า 13,000 ราย มูลค่า 800 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังมียอดค้างเคลมสะสมอีกจำนวนมาก

“มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการสูงสุด ซึ่งถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้มีมาตรการนี้ แต่พิจารณาแล้วไม่อยากให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย โดยปัจจุบันได้ใช้อำนาจกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี เพื่อรับช่วงในการจ่ายเคลม” นายสุทธิพลกล่าว

ถกแผนโอนพอร์ตลูกค้า

นายสุทธิพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ.ได้ประชุมหารือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยถึงแนวทางกระบวนการโอนถ่ายพอร์ตงานรับประกันภัยทั้งหมดของบริษัทเอเชียประกันภัย โดยเบื้องต้นทางกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 จะทำหน้าที่จัดการเรื่องการเงินและทรัพย์สินเพื่อจ่ายหนี้

โดยจะทำจดหมายบอกเลิกสัญญากรมธรรม์แจ้งลูกค้าทั้งหมด และให้ลูกค้านำจดหมายไปซื้อกรมธรรม์ใหม่กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 13 บริษัทประกันวินาศภัยที่สนใจรับโอนพอร์ตงาน

สำหรับพอร์ตงานรับประกันภัยหลัก ๆ ของบริษัทเอเชียประกันภัย ประกอบด้วย 1.ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ประมาณ 2 แสนฉบับ 2.ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ประมาณกว่า 1 ล้านฉบับ ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกบริษัทรับประกันเอง

ทิพยฯรับโควิด 8 แสนฉบับ

3.ประกันภัยโควิดประเภท เจอ จ่าย จบ ทางเอเชียประกันภัยมีอยู่เกือบ 8 แสนฉบับ เบื้องต้นจะต้องแปลงเป็นความคุ้มครองกรณีภาวะโคม่าแทน โดยจากการหารือทางบริษัท ทิพยประกันภัย ซึ่งถือว่ามีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะเข้ามาช่วยรับโอนพอร์ตโควิดไปทั้งหมด

แต่ทั้งนี้ลูกค้าจะต้องยินยอมแปลงความคุ้มครองเป็นภาวะโคม่า เบี้ยประกัน 300 บาท ได้รับทุนประกัน 3 แสนบาท แต่สำหรับใครที่ไม่ยอมก็สามารถไปขอเงินค่าเบี้ยคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยได้จากส่วนต่างที่เหลืออยู่

กองทุน 5 พันล้านอุ้มลูกค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนประกันวินาศภัย จะทำหน้าที่คุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดย ณ สิ้นปี 2563 มีเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 5,579.71 ล้านบาท สำหรับกรณีของบริษัท เอเชียประกันภัย

ทางสำนักงาน คปภ.ได้มีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จากปรากฏพฤติการณ์และหลักฐานว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 คปภ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมการจ่ายเงิน และเร่งจ่ายเคลมประกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน โดยห้ามมิให้ กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท สั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท โดยตั้งแต่สำนักงาน คปภ.เข้าไปควบคุมบริษัท เอเชียประกันภัย เมื่อวันที่ 23 กันยายน-15 ตุลาคม 2564 ได้อนุมัติการจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยกว่า 13,000 ราย เป็นวงเงินรวมกว่า 800 ล้านบาท

บ.ประกันรับเสี่ยงไม่ไหว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้เข้าพบและรายงานถึงเรื่องการจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ โดยกำชับในเรื่องของการคืนเงินให้กับผู้เอาประกัน โดยเฉพาะกรณีบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 ที่ขณะนี้มีผู้ขอเคลมประกันจำนวนมาก จึงได้ให้ คปภ.เข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ขอเคลมประกัน

อย่างไรก็ดี สถานะการเงินของบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่เปิดขายประกันโควิด-19 ยังไม่พบปัญหา สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ตามเงื่อนไข และขณะนี้บริษัทประกันทั้งหลายก็หยุดขายประกันประเภทนี้แล้ว เนื่องจากช่วงนี้มีผู้ติดเชื้อเยอะจึงรับความเสี่ยงไม่ไหว

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าจากที่มีการวางแผนรองรับลูกค้าผู้เอาประกันไว้เรียบร้อยแล้ว จึงเชื่อว่าการเพิกถอนใบอนุญาตและสั่งปิดเอเชียประกันภัยจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นระบบประกันภัยทั้งระบบ

ผู้ถือหุ้นเดอะวันพร้อมเพิ่มทุน

นายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดอะวันประกันภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทมียอดกรมธรรม์โควิดเจอ จ่าย จบ ทั้งสิ้น 8 แสนฉบับ หยุดขายกรมธรรม์ใหม่ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 64 ฉะนั้นจะยังมีความคุ้มครองลูกค้าต่อเนื่องไปถึงเดือน มิ.ย. 65

ซึ่งปัจจุบันมียอดเคลมสินไหมเข้ามาแล้ว ประมาณ 30,000-40,000 กรมธรรม์ จ่ายเงินไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท จากเบี้ยรับแค่ 500 ล้านบาท โดยคิดเป็นทุนประกันภัยเฉลี่ย 8 หมื่นบาทต่อฉบับ ทั้งนี้ ยังมียอดเคลมเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลอีกกว่า 600-700 ล้านบาท

“ยอดเคลมที่เข้ามามากผิดปกติจากเดือนละ 10 เคลม เป็นวันละ 1,000 เคลม จึงส่งผลต่อการพิจารณาจ่ายเงินของบริษัท โดยเฉพาะช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดหลัก 20,000 รายต่อวันในเดือน ก.ค. และหลังจากนั้นราว 40 วัน ทยอยเข้ามายื่นแจ้งเคลมสินไหมในเดือน ส.ค.-ก.ย. จนเจ้าหน้าที่รองรับไม่ไหว”

โดยตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. 64 ที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นแผนกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้น ตามมาตรการ คปภ. เรื่องเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ในช่วงปี 2564 โดยเบื้องต้นผู้ถือหุ้นได้ใส่เงินเพิ่มทุนก้อนแรกมาแล้ว 400-500 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องใส่เงินเพิ่มทุนอีก เพราะยอดเคลมประกันภัยโควิดไม่ได้ยุติลงแค่นี้

“สถานะบริษัทของเราถือว่ายังสามารถเดินธุรกิจต่อไปได้ เพราะตอนนี้ผู้ถือหุ้นยังสนับสนุนเงินกู้ แม้ยอดเคลมท่วมเบี้ยประกันรับไปแล้ว ซึ่งก็เป็นทุกบริษัท” นายอรัญกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัท เดอะวันประกันภัย คือ กลุ่มบิวตี้ เจมส์ โดยนายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล เป็นประธานกรรมการบริษัท