เศรษฐกิจโลกปีจอ สดใส

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากและธนาคารกลางทั่วโลกรวมทั้งองค์กรโลกบาลอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ได้ประกาศในการประชุมร่วมกันขององค์กรที่กล่าวในข้างต้นและผู้ว่าการธนาคารกลางทั่วโลกว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและฟื้นตัวอย่างทั่วถึงในหลายประเทศ หลายภูมิภาค โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.6% และปีหน้าขยายตัวดีกว่าปีนี้โดย
อยู่ที่ 3.7%

ผมคิดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าน่าสนใจมากเมื่อคำนึงว่าหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2551 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น แม้ภาพรวมในปี 2 ปีต่อมา เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวก็ไม่ได้ทั่วถึงไปหลายประเทศ กล่าวคือในช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก ชาติที่ขยายตัวแข็งแกร่งและนำเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวคือประเทศกลุ่ม BRICS อันประกอบไปด้วยจีน (กระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 ล้านล้านหยวน) รัสเซีย อินเดียและแอฟริกาใต้

ขณะที่ประเทศสหรัฐและยุโรป กำลังวุ่นอยู่กับการบันทึกการด้อยค่าของหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นสินเชื่อจำนองบ้านสหรัฐ และลดระดับการก่อหนี้ (deleveraging) ญี่ปุ่นเองยังเต็มไปด้วยการรัฐบาลที่มีอายุสั้นและไม่ได้มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเงินฝืด หลังจากนั้น ประเทศยุโรปเข้าสู่วิกฤตหนี้สินสาธารณะ ขณะที่เมื่อผลบวกของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนสิ้นสุดลงและปริมาณน้ำมันจาก shale oil/gas ของสหรัฐที่เพิ่มกดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลงจนในที่สุดกลับมากดดันเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม BRICS รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ให้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตามแต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาฟื้นตัวและรับช่วงนำการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัวกระท่อนกระแท่น กล่าวได้ว่าก่อนหน้านี้ หลังปี 2551 การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศเพราะมีประเทศใหญ่บางประเทศขยายตัวเพียงประเทศหรือ 2 ประเทศแต่ประเทศที่เหลือเศรษฐกิจชะลอลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจของหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา ตอนนี้กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เห็นมานานหลังปี 2551 เป็นต้นมา

โดยที่สหรัฐพบว่าการจ้างงานขยายตัวแข็งแกร่งหนุนการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มและหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวแต่ภาวะเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากนี้ไปจับตามาตรการลดภาษี (tax reform) และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในส่วนของยุโรปนั้น ตลาดเริ่มปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อน ขณะที่เงินเฟ้อแม้ว่าจะอ่อนแอแต่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้ ECB เตรียมยุติมาตรการ QE ในปีหน้า

ส่วนที่จีนพบว่า แรงหนุนส่งเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงโดยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่การชะลอลงสอดคล้องกับนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและลดการผลิตที่ล้นเกิน

กรณีญี่ปุ่นพบว่าตลาดเริ่มปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นทางบวกต่อเนื่อง ขณะที่ BOJ คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามเดิมเพราะเงินเฟ้อญี่ปุ่นยังไม่มีสัญญาณเพิ่มขึ้น จากนี้ไปจับตาผลบวกจากการเป็นเจ้าภาพ
โอลิมปิกของญี่ปุ่นและทิศทางค่าเงินเยน

สำหรับเอเชียโดยรวม การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวดีมากในครึ่งแรกของปีหนุนเศรษฐกิจเอเชียให้ขยายตัวตาม ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจจีนมีส่วนทำให้ความผันผวนของระบบการเงินโลกอยู่ในระดับต่ำแต่ยุทธศาสตร์ใหม่หลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนชี้ถึงทิศทางเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนและคุณภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจถือเป็นทิศทางบวก

สำหรับเศรษฐกิจไทย ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ที่ขยายตัวสูงถึง 4.3% บ่งชี้ว่าฟื้นตัวตามการขยายตัว
เศรษฐกิจโลก

เมื่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวดี แน่นอนที่ว่าทิศทางของเงินเฟ้อเริ่มกลับมาฟื้นตัว ธนาคารกลางได้เวลาที่จะลดการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งนี่จะส่งผลให้ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนเป็นระยะ ซึ่งจากนี้ไป นักลงทุนต้องคอยตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและควรตระหนักว่าโดยปกติแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีหนุนราคาสินทรัพย์เสี่ยงให้เพิ่มขึ้น แต่การที่หลายปีที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์เสี่ยงเป็นขาขึ้นมาโดยตลอดทำให้จากนี้ไปการปรับฐานย่อยน่าจะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเกิดการปรับฐานของสินทรัพย์เสี่ยงนี่จะถือได้ว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน