ธ.ก.ส. จับมือ 6 ภาคีเครือข่าย “ลดเผาอ้อย” แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

ธ.ก.ส. จับมือสมาคมชาวไร่อ้อย – โรงงานน้ำตาล ส่งเสริมเกษตรกรลดการเผาอ้อย ลดปัญหา PM 2.5 และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิต พร้อมเสริมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งเป้าลดการเผาอ้อย 100% ภายในปี’66

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านมลพิษที่ทวีความรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรสามารถประกอบอาชีพควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับ 6 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7 ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง (กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 9 โรงงาน และโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ที่เป็นพันธมิตร) สมาคมส่งเสริมอาชีพการเกษตรสุพรรณบุรี โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี โรงงานน้ำตาลมิตรผล และโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล (อู่ทอง) ในการสนับสนุนและดูแลชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีการผลิตอ้อยมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี

นายธนารัตน์ กล่าวว่า ในการร่วมมือดังกล่าว ตั้งเป้าหมายลดการเผาอ้อยลงร้อยละ 20 ในปี 2564 จำนวนพื้นที่ 319,627 ไร่ ปี 2565 ลดลงร้อยละ 50 จำนวนพื้นที่ 799,067 ไร่ และภายในปี 2566 ลดลง ร้อยละ 100 จำนวนพื้นที่ 1,598,133 ไร่ หรือครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ตามนโยบายส่งเสริมการควบคุมดูแลภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของทุกประเทศในขณะนี้

สำหรับการดำเนินงานนอกจากการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ยังมุ่งเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่เพาะปลูกอ้อย เช่น การสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยปรับพื้นที่รองรับรถตัดอ้อยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยและการเผาอ้อย การส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมได้จัดซื้อเครื่องอัดใบอ้อย (Square Balers) เพื่อส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล

ทั้งนี้ เป็นการช่วยเพิ่มรายได้และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมถึง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนชาวไร่อ้อยด้วยสินเชื่อพิเศษในแต่ละขนาดพื้นที่ (Farm Size) เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ การทำไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ทันสมัย (Smart Farming) มาปรับใช้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่ามากขึ้น