ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังกลุ่มโอเปก-ผู้ผลิตนอกกลุ่มยืดระยะเวลาข้อตกลงลดกำลังผลิตน้ำมันดิบไปจนสิ้นปี 2561

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปรับลดลงสามวันติดต่อกันก่อนหน้านี้ หลังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ได้เปิดเผยผลการประชุม ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียว่า กลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มได้ตกลงที่จะยืดระยะเวลาข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 9 เดือนจากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2561

+ นอกจากนี้ไนจีเรียและลิเบียจะเข้าร่วมในข้อตกลงนี้ด้วย โดยจะทั้งสองประเทศจะคงระดับการผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศไม่ให้เกินระดับ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ผลิตได้ในปี 2560 หลังจากก่อนหน้านี้ทั้งไนจีเรียและลิเบียได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่ม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา

– อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มอาจจะสิ้นสุดลงก่อนกำหนดได้ หากสถานการณ์และมุมมองในตลาดน้ำมันดิบมีทิศทางเปลี่ยนไป โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้าในเดือนมิถุนายน 2561

+/- นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันดิบได้กังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปแตะระดับ 9.68 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหากสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องจะมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงได้ในช่วงสิ้นปี 2561 อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันดิบก็มีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะตรึงตัวได้เช่นกัน โดยต้องจับตาดูจากปัจจัยเสี่ยงจากการผลิตในประเทศอิรัก เวเนซุเอล่า ลิเบีย และไนจีเรียที่ประสบปัญหาภายในประเทศในขณะนี้

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินจากประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นที่ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ยังคงล้นตลาดในภูมิภาค หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในประเทศจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศศรีลังกา

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 56 – 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61 – 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกออกไปอีก 9 เดือนจนถึงสิ้นปี 2561 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบของโอเปกทั้ง 12 ประเทศและผู้ผลิตนอกโอเปกทั้ง 10 ประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด หลังปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี ที่ราว 140 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของไนจีเรียและลิเบียจะถูกจำกัดอยู่ที่ 1.8 และ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ หากปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจนแตะระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตจะทบทวนข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. 61

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากแคนาดาคาดจะปรับลดลงต่อเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งมีกำลังการขนส่งอยู่ที่ 590,000 บาร์เรลต่อวัน หลังพบน้ำมันดิบรั่วและคาดจะใช้ระยะเวลากว่า 3-4 สัปดาห์ก่อนจะกลับมาดำเนินการได้เต็มกำลังการขนส่ง ประกอบกับโรงกลั่นที่คงกำลังการผลิตในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ย. ปรับลดลง 3.4 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 453.71 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล