ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดรอผลการประชุมเฟดกลางสัปดาห์

เงินบาท

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดรอผลการประชุมเฟดกลางสัปดาห์ ธนาคารโล ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 โต 3.9% เพิ่มจากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/12) ที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/12) ที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษยืนยันว่า พบผู้เสียชีวิตจากไวรัสโอไมครอนรายแรกในประเทศ พร้อมทั้งเตือนว่าอังกฤษกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ของไวรัสโอไมครอน และวัคซีนสองโดสไม่เพียงพอที่จะควบคุมไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว

การแสดงความเห็นของนายจอห์นสันมีขึ้นหลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 สู่ระดับ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นไปอย่างจำกัด จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะเวลา 10 ปี ที่ร่วงลงสู่ระดับ 1.426% เมื่อคืนที่ผ่านมา (13/12) ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการเข้าถือครองทองคำของนักลงทุน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า รวมถึงการปรับลดอัตราการซื้อพันธบัตรในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

Advertisment

ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะเพิ่มการปรับลดวงเงิน QE เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสองเท่าจากเดิมที่เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารโลก (Workd Bank) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2565 เป็น 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1.0% ก่อนที่ 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 นั้นจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคการบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาเพิ่มขึ้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 2563 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี และเพิ่มขึ้นอีกในปี 2561 เป็นประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเกิดวิกฤตโควิด

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.36-33.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่นอไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/12) ที่ระดับ 1.1276/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/12) ที่ระดับ 1.1266/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรร่วงลงจากระดับ 1.1300 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาค

หลังนายมาร์ติน เฮิร์สซ์ ผู้อำนวยการกลุ่มโรงพยาบาล AP-HP ในปารีสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่าฝรั่งเศสอาจต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 6 เนื่องจากการอุบัติของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ส่วนในขณะนี้ ฝรั่งเศสยังอยู่ในช่วงการระบาดระลอกที่ 5 ซึ่งมีสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด

ขณะที่นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะยังคงนโยบายการเงินไว้แบบเดิมในการประชุมในวันพฤหัสบดีนี้ (16/12) ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1266-1.1293 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1290/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/12) ที่ระดับ 113.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/12) ที่ระดับ 113.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนยังคงรอความชัดเจนเพิ่มเติมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอไมครอน ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.49-113.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ย. (14/12), ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. (15/12), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (POMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (15/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ธ.ค.จากมาร์กิต (16/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.50/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ -2.00/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ