ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 11 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 33.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/1) ที่ระดับ 33.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของสหรัฐแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันจันทร์ (10/1) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนทำให้ระบบสาธารณสุขตึงตัวในหลายรัฐ อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้รับปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพุธนี้ โดย Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในขณะเดียวกันโกลด์แมน แซกส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึนอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือน ก.ค. หรือเร็วกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากตลาดแรงงานของสหรัฐที่อยู่ในภาวะตึงตัวอย่างมาก ประกอบกับการที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรายงานการประชุมเดือน ธ.ค. ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่าเฟดอาจจะเริ่มปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อเน้นกู้เศรษฐกิจแม้เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นสูง ระบุหากโอมิครอนระบาดแค่ครึ่งปีแรก และรัฐบาลไม่ล็อกดาวน์อาจจะกระทบเศรษฐกิจไม่มาก พร้อมทั้งติดตามกำลังซื้อในประเทศ หลังมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสิ้นสุดไตรมาส 2 ปีนี้ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 86.8 เพิ่มขึ้นจาก 85.4 ในเดือน พ.ย. 64 โดยค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการยังเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่คลี่คลาย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.38-33.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 1.1341/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/1) ที่ระดับ 1.1326/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดได้รับแรงหนุนหลังจากยูโรสแตทเปิดเผยตัวเลขอัตราว่างงานของยูโรโซนปรับตัวอยู่ที่ 7.2% ในเดือน พ.ย. นอกจากนี้ กรรมการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นอาจทำให้อีซีบีต้องหยุดมองข้ามอัตราเงินเฟ้อสูง และต้องดำเนินการเพื่อชะลอจากเพิ่มขึ้นของราคา โดยระหว่างวันค่าเงนยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1323-1.1350 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1346/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 115.33/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/1) ที่ระดับ 115.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศขยายระยะเวลาคำสั่งห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศอย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.ซึ่งได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. หลังจากที่ญี่ปุ่นรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.13-115.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.22/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม (12/1), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/1), ยอดค้าปลีกเดือนธันวาคม (14/1), ผลผลิตทางอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม (14/1), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.35/0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.3/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment