เงินดอลลาร์อ่อนค่า ประธานเฟดส่งสัญญาณเชื่อมั่นขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบเศรษฐกิจ

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณเชื่อมั่นขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 12 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/1) ที่ระดับ 33.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/1) ที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความเชื่อมั่นในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อคืนนี้ตามเวลาไทยว่า แผนการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟดในปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐก็แข็งแกร่งพอที่จะทำให้เฟดไม่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นขนานใหญ่อีกต่อไป

นายพาวเวลล์กล่าวต่อคณะกรรมาธิการว่า เขาคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถฝ่าฟันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไปได้ และเชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งผลกระทบนี้จะไม่ทำให้แผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดการถือครองสินทรัพย์ของเฟดในปีนี้ต้องสะดุดลง นอกจากนี้ นายพาวเวลล์ยังกล่าวว่า การรักษาเสถียรภาพด้านราคาถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลักดันเศรษฐกิจและการจ้างงานให้ขยายตัวได้ต่อไป พร้อมกับกล่าวว่าเฟดจะใช้ความพยายามในการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ แม้จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี’65 และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ดังนั้น กกร.จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’65 ไว้ตามเดิมที่โต 3-4.5% การส่งออกโต 3-5% เงินเฟ้อ 1.2-2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.28-33.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/1) ที่ระดับ 1.1371/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/1) ที่ระดับ 1.1334/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงมีปัจจัยกดดัน หลังบีจีเอ (BGA) ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของเยอรมนีออกมาเตือนในวันนี้ว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะห่วงโซ่อุปทานชะงักงันครั้งใหญ่ เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

อย่างไรก็ตาม BGA ระบุว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะไม่กินเวลายาวนาน อุตสาหกรรมในเยอรมนีได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไมโครชิปและชิ้นส่วนอื่น ๆ ในขณะยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ทะยานสูงขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของภาคค้าปลีกนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1355-1.1378 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1368/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/1) ที่ระดับ 115.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/1) ที่ระดับ 115.35/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีฟ้องเศรษฐกิจ (Coincident Index) ในเดือน พ.ย. 2564 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวขึ้นรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในเดือน ม.ค. 2528 เนื่องจากการผลิตยานยนต์มีการฟื้นตัว สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีดังกล่าวปรับตัวขึ้น 3.8 จุดจากเดือน ต.ค. สู่ระดับ 93.6 ในเดือน พ.ย. โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เทียบกับฐานปี 2558 ที่ระดับ 100 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.24-115.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.30/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนธันวาคม (12/1), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/1), ยอดค้าปลีก เดือนธันวาคม (14/1), ผลผลิตทางอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม (14/1), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.35/0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.3/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ