เมืองไทยประกันชีวิต กางแผนปีเสือ ปั้นกำไรโตยั่งยืน

สาระ ล่ำซำ
สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางปัจจัยลบในปี 2564 ทั้งสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลอดจนภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ mtl สามารถทำกำไรได้กว่า 7,000 ล้านบาท ทำได้อย่างไร “สาระ ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฉลยไว้ในการแถลงผลดำเนินงานปี 2564 และทิศทางปี 2565 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปรับพอร์ตหนุนกำไรโต

โดย “สาระ” เปิดเผยว่า กำไรที่เติบโตได้ดีนั้น ที่มาหลัก ๆ แบ่งได้เป็นกำไรจากการรับประกันภัยที่อัตราการเคลมประกันสุขภาพกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (simple diseases) ลดลงกว่า 10% จากปกติอัตราการเคลมอยู่ระดับ 70% และกำไรจากการลงทุนรวมไปถึงค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลง ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจใหม่ (new business value) ของบริษัทเติบโตขึ้นมากว่า 3 เท่า

ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนการขายสินค้าคุ้มครองชีวิตและการลงทุนสูงถึง 77% ขณะที่สามารถสร้างเบี้ยประกันรับรายใหม่ (new business premium) ได้กว่า 23,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน เติบโตดีกว่าอุตสาหกรรม โดยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโต 31% มียอดขายเป็นอันดับ 1 ผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ (ขายผ่านธนาคาร) ดิจิทัล และประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ก็เติบโตสูงถึง 1,116%

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับตัวสู่การเติบโตแบบยั่งยืน ไม่ได้หวังเติบโตจากส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) มาก เพราะมองประกันชีวิตเป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งแบบประกันที่ขายจำเป็นต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มีความเข้าใจความละเอียดอ่อนของผลกระทบจากเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ของพันธบัตร โดยได้มีการปรับหน้าตาพอร์ตโฟลิโอให้ตอบโจทย์โดยเฉพาะเมื่อบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS17) ในปี 2567 ซึ่งต้องบันทึกสินค้าขาดทุนในงบการเงินทันที

“ตอนนี้พอร์ตโฟลิโอของเราค่อนข้างเฮลตี้ (สุขภาพดี) และยั่งยืนมาก โดยปัจจุบันสินทรัพย์รวมของบริษัทมีมากกว่า 6 แสนล้านบาท มีระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR Ratio) มากกว่า 300% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140%”

Advertisment

ธุรกิจในอาเซียนโตดีทุกประเทศ

นอกจากนี้ ยังมาจากผลดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 แห่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดย Sovannaphum Life Assurance ธุรกิจในกัมพูชามีเบี้ยประกันรับปีแรกเติบโตกว่า 30% และ Dara Insurance มีเบี้ยประกันรวมเติบโตกว่า 18% ขณะที่ ST-Muang Thai Insurance ธุรกิจใน สปป.ลาวมีเบี้ยประกันรับปีแรกเติบโตกว่า 65% แม้จะเจอมาตรการล็อกดาวน์นานกว่า 6-7 เดือน ด้าน MB Ageas Life ธุรกิจในเวียดนามมีเบี้ยประกันรับรายใหม่เติบโตกว่า 35%

ความท้าทายในปี’65

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2565 “สาระ” กล่าวว่า ความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตยังคงมาจากสินค้าครบอายุแต่ยังมีผลคุ้มครองอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประกันสะสมทรัพย์ที่ตรึงกับการลงทุนและทิศทางดอกเบี้ยพันธบัตร โดยในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมาเทรนด์ yield curve ของพันธบัตรอายุ 10 ปีขึ้นไปปรับตัวลงตลอดเวลา ถึงแม้ปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาแต่ก็ถือว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ขณะที่การบังคับใช้ IFRS17 จะมีผลต่อการวางนโยบายต่อการขายสินค้าประกันชีวิตอย่างมาก

ตั้งเป้าเบี้ยใหม่โต 10%

“สาระ” กล่าวถึงแผนธุรกิจและเป้าหมายปี 2565 ว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรายใหม่เติบโต 10% จากปีก่อน หรืออยู่ที่ 26,136 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากยอดขายประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง 10% จากยูนิตลิงก์ 40-50% จากสินค้าคุ้มครองชีวิต 7-10% และจากประกันสะสมทรัพย์ 5-7%

โดยสัดส่วนการขายสินค้าคุ้มครองชีวิตและการลงทุนจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 78% ทั้งนี้ เบี้ยรับรายใหม่ช่องทางตัวแทนประกันชีวิตตั้งเป้าโตมากกว่า 20% ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ตั้งเป้าโตมากกว่า 5% และช่องทางดิจิทัลตั้งเป้าโตมากกว่า 100%

Advertisment

ลุยเจาะลูกค้าสุขภาพ-เวลท์

นอกจากนี้ ปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นเจาะตลาดสินค้าประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) โดยพยายามเข้าถึงลูกค้า 3 กลุ่มหลักประกอบด้วย

1.Un-insure ด้วยสินค้าที่มีความกะทัดรัด เบี้ยต่ำกว่า 100 บาทต่อปี

2.Un-insurable เช่น กลุ่มสูงวัย ที่จะมีการขยายอายุรับประกัน 80 ปี และต่ออายุได้จนถึง 99 ปี ซึ่งจะวางขายสินค้าภายในปีนี้

และ 3.Un-interested กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจประกัน โดยจะใช้บิ๊กดาต้ามาจับหาไลฟ์สไตล์ลูกค้าเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแบบไม่ขายประกันโดยตรง

ขณะที่กลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (wealth) จะเริ่มต้นดูแลตั้งแต่การคุ้มครองชีวิต และปกป้องความมั่งคั่งให้ลูกค้าจากสินค้าควบการลงทุน โดยมีการจัดพอร์ตดูแลให้มีความยั่งยืน รวมไปถึงการวางแผนทางการเงินให้ตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน กำลังสร้างตัว ไปจนถึงการวางแผนเกษียณอายุ และการวางแผนมรดก

“ต้องบอกว่าเราเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ขายสินค้ายูนิตลิงก์แบบจัดพอร์ต (asset allocation) และทำมาแล้วกว่า 5 ปี โดยพอร์ตแนะนำเป็นบวกทุกปี” นายสาระกล่าว

ซัพพอร์ตค่ารักษา “โควิด”

ด้านการให้ความคุ้มครองประกันสุขภาพจากค่ารักษาติดเชื้อโควิด-19 นั้น ซีอีโอเมืองไทยประกันชีวิต ยืนยันว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมในการให้ความคุ้มครองตามที่สัญญากรมธรรม์ได้กำหนดไว้

จากภาพเหล่านี้แม้ว่าปี 2565 ธุรกิจประกันชีวิตจะยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายอย่าง แต่ความพยายามปรับพอร์ตของทางเมืองไทยประกันชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้ผลประกอบการมีทิศทางเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน