ดอลลาร์อ่อนค่าหลังความกังวลเกี่ยวกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐลดลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 32.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/2) ที่ระดับ 32.31/32 บาท ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องขานรับเงินทุนไหลเข้าตลาดทุนในประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ม.ค. ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า แม้กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานและการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเงินเฟ้อและข้อมูลด้านอื่้น ๆ ในการประชุมแต่ละครั้ง โดยเฟดจะกลับมาประเมินช่วงเวลาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมแต่ละครั้ง โดยรายงานการประชุมบ่งชี้ว่า เฟดอาจจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วและรุนแรงไปกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตลาดถูกกดดันอย่างหนักจากการที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ได้แสดงจุดยืนแข็งกร้าวด้วยการสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 1% ภายในเดือน ก.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือน ม.ค.พุ่งขึ้น 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1% หลังจากดิ่งลง 2.5% ในเดือน ธ.ค. โดยยอดค้าปลีกเดือน ม.ค.ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทะยานขึ้น 14.5%

ในขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นเหนือระดับ 2% ในวันนี้ โดยนักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังคลายกังวลเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนบ้างเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.03% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.32% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.18-32.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (17/2) ที่ระดับ 1.1372/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/2) ที่ระดับ 1.1348/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยจากรายงานการประชุมเฟดบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วและรุนแรงไปกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐลดลง

อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังมีความผันผวนจากข่าวความเคลื่อนไหวของรัสเซียและยูเครนที่ล่าสุดในวันนี้ (17/2) มีรายงานว่า กองกำลังรัสเซียได้ระดมกำลังประชิดชายแดนยูเครนอีก 7,000 นาย แม้ก่อนหน้านี้รัสเซียจะอ้างว่าถอนกำลังกลับแล้วก็ตาม นอกจากนี้เริ่มมีรายงานการปะทะกันในบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ แต่ยังไม่มีการยืนยันข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1324-1.1385 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1360/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 115.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/2) ที่ระดับ 115.58/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าในฐานะเงินสกุลปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนหลังจากนาโตระบุว่า รัสเซียยังคงมีการเสริมกำลังทหารตามชายแดนยูเครนอยู่ แม้จะมีการรายงานก่อนหน้านี้ว่า มีทหารบางส่วนได้กลับฐานแล้วก็ตาม

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือน ม.ค.สูงสุดในรอบ 8 ปี เนื่องจากยอดการนำเข้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงเงินเยนที่อ่อนค่าลง โดยรายงานขั้นต้นจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 2.19 ล้านล้านเยน (1.9 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นการขาดดุลสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ซึ่งขณะนั้นมีตัวเลขขาดดุลอยู่ที่ 2.80 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.95-119.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.16/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (17/2), การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ม.ค. (17/12), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ม.ค. (18/2) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ม.ค.จาก Conference Board (18/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.65/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.5/+1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ