อาคม เผย 4 ปัญหากระทบเศรษฐกิจไทยปี’65

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง เผย 4 ปัญหาระยะสั้น กระทบเศรษฐกิจปี’65 ชี้ราคาน้ำมันคาดอยู่ระดับ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ย คาดใช้เวลา 2 ปี เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความกังวลที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาระยะสั้นนั้น ขณะนี้มีอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นปัจจัยที่เกิดจากภายนอก เพราะ 70-80% ต้องมีการนำเข้าน้ำมัน โดยปัญหาดังกล่าวยอมรับว่าเกิดจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

พร้อมกันนี้ยังมีปัจจัยของอิหร่านที่ยังเจรจากับสหรัฐ หากจบลงด้วยดี ราคาน้ำมันจะสมดุลมากขึ้น โดยหลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอยู่ที่ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของการขนส่ง และมีผลต่อธุรกิจอื่น ๆ ด้วย

2.ราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น ภาครัฐได้เข้าไปควบคุมดูแลแล้ว เชื่อว่าราคาสินค้าหมวดอาหารจะปรับลดลง และจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ตรงจุดถูกต้อง เชื่อว่าราคาจะลดลงอย่างแน่นอน

3.การแพร่ระบาดโควิด ซึ่งทุกประเทศก็กังวล ว่าจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทย ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ทั้งในต่างจังหวัด ค้าชายแดน ดังนั้นทุกคนต้องดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ระมัดระวังตัวเอง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป ไม่สะดุด เพราะทุกประเทศ ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับวิกฤตโควิด

และ 4.ดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ​ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยก็จะปรับขึ้นตามไปด้วยนั้น นายอาคมกล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ ซึ่งผู้ว่าการ ธปท.เคยประกาศว่า การจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี หรือจะฟื้นตัวเต็มที่ ในปี 2567 ฉะนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัว การคงอัตราดอกเบี้ย น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ต้องรอฟังความชัดเจนจาก ธปท.อีกครั้ง

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แม้จะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่แพร่กระจายเร็วมากนั้น ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะมีกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นทุกคนต้องระมัดระวัง ดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เมื่อทุกคนร่วมมือกัน เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและเติบโต 4% ตามที่มีการคาคการณ์ไว้ และตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว