แกะรอย แบงก์ใหญ่ กำไรทรุด เร่งแก้ปมเอ็นพีแอล พุ่งต่อ

ตัวเลขผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ครึ่งแรก ปี 2560 ออกมาแล้ว เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่เห็นสัญญาณชัดว่ากลุ่มแบงก์ใหญ่มีผลประกอบการหรือตัวเลขกำไรสุทธิที่ถดถอย แม้ว่าบางแบงก์ยังมีอัตราการเติบโต แต่ก็เป็นลักษณะทรงตัว ขณะที่สถานการณ์ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในทิศทาง ขาขึ้นŽ ต่อไป โดยที่หลายแบงก์จะออกมายืนยันว่า สถานการณ์เอ็นพีแอลจะพีกหรือพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาส 3-4 นี้อย่างแน่นอน

กลุ่มแบงก์ใหญ่กำไรทรุด

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง (ไม่รวมธนาคารเกียรตินาคิน) ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 60) มีกำไรสุทธิรวม 98,565 ล้านบาท หดตัว 0.70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2559 โดยธนาคารไทยพาณิชย์ยังครองแชมป์ มีกำไรสุทธิมากสุดที่ 23,822 ล้านบาท แต่มีการเติบโตเพียง 1.96% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,911 ล้านบาท ลดลง 7.1% เนื่องจากไตรมาส 2/2559 มีการกลับรายการสํารองประกันภัยของ SCB Life จํานวน 4,300 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปีนี้ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง 26.1%รองลงมาคือ ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิ 19,157 ล้านบาท เติบโต 0.44% สำหรับธนาคารกรุงเทพ ครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 16,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.59% ขณะที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 84,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อ 3.70% ขณะที่ธนาคารกรุงไทย กำไรสุทธิ 11,759 ล้านบาท ลดลง 27.55% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งเป็นธนาคารที่มีเอ็นพีแอลมากที่สุด 94,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.28% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทำให้อัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่ออยู่ที่ 4.24%

ธปท.ชี้ปม ศก.ฟื้นกระจุกตัว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 มีบางรายการที่เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กลายเป็นหนี้เสีย ทำให้การตั้งสำรองอาจเกิดขึ้นมากกว่าไตรมาส 1/2560 ผลประกอบการธนาคารบางแห่งจึงลดต่ำลง ถือเป็นเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น ปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งออกที่ดี แต่ ธปท.ยังจับตาเอ็นพีแอลใกล้ชิด เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวนัก บางภาคธุรกิจได้รับผลกระทบสะสม อาจทำให้ทิศทางเอ็นพีแอลขยับขึ้นได้ แต่ไม่น่ากังวลเพราะธนาคารยังมีเงินสำรองสูง ยังมีกำไรให้ตั้งสำรองเพิ่มเติมได้อย่างที่เห็นในไตรมาส 2/2560

ตัวเลขเอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ 403,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.53% จากงวดเดียวกันของปี 2559 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ภาคธุรกิจ หลายธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาในไตรมาส 2/2560 ตั้งสำรอง 5,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 3.7% ธนาคารกรุงไทย มีการตั้งหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า 13,878 ล้านบาท เพิ่มไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 6,137 ล้านบาท 79.28%

กรุงไทยเร่งตั้งสำรอง-ตัดหนี้เสีย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ภาพรวมกำไรสุทธิธนาคารครึ่งแรกปี 2560 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนมาก มาจากตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นกว่า 4.97 พันล้านบาท สูงขึ้น 30% รองรับปัญหาหนี้เสียลูกหนี้รายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่ที่ผลดำเนินงานอ่อนแอลง

รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสินเชื่อเติบโตต่ำ และผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ของลูกค้ารายย่อยชั้นดี แต่ธนาคารมีการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้ NIM อยู่ที่ 3.4% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.24% ด้านรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ (ค่าฟี) ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากธุรกิจบัตรและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้ดีขึ้นเนื่องจากเอ็นพีแอลของแบงก์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลขึ้นมาอยู่ที่ 4.33% ของสินเชื่อรวม เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่ ทั้ง บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่มูลหนี้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ธนาคารตั้งสำรองเต็มจำนวน รวมถึงกลุ่มโรงสีข้าวที่ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ไตรมาส 2 มีอัตราส่วนตั้งสำรองลูกหนี้ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 112.50 รวมทั้งได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการหนี้ โดยแยกกลุ่มลูกหนี้ที่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ออกมาให้ชัดเจน เรียกว่าเข้าไปบริหารจัดการเชิงรุกมากขึ้น

แนวโน้มเอ็นพีแอลของธนาคารอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 นี้ จากกลุ่มเอสเอ็มอี บริการ และเกษตร ที่ไหลกลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกหลังปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ไม่ได้มาจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ ตอนนี้แบงก์ทำอะไรเยอะมาก ทั้งทบทวนพอร์ตสินเชื่อ ปรับกระบวนการติดตามสินเชื่อ เป็นยุทธศาสตร์ซ่อมสร้าง พยายามทำให้กำไรไตรมาส 3 ยืนเหนือ 8 พันล้านบาทŽ

ลุ้นครึ่งปีหลังแนวโน้มดีขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ครึ่งปีแรกปี 2560 ธนาคารมีกำไรสุทธิทรงตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 1,614 ล้านบาท หรือ 4.88% เพราะรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนลดลง แต่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการยังเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิก็เพิ่มขึ้น 2,108 ล้านบาท หรือ 4.76% และอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.42%

ขณะที่ นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 10.5% มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ เติบโต 8.9% และ 5.2% ขณะที่ NIM อยู่ที่ 3.82% ปรับตัวดีขึ้นจากกลางปีก่อนอยู่ที่ 3.78% สะท้อนถึงอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ดีขึ้น เอ็นพีแอลลดลงอยู่ที่ 2.24%

โดยครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวการส่งออก ท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าการลงทุนและการบริโภคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธนาคาร โดยคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ 6-8%

ด้าน นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ครึ่งปีหลังผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์จะกลับมาดูสดใสขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ซึ่งไตรมาสที่ผ่านมาถูกกดดันจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ราว 0.50% ช่วงเดือน พ.ค. 2560 ทำให้ NIM ปรับตัวดีขึ้น หลังอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปี มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกอบกับคาดว่าการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารจะเร่งตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง