บรรยงชี้ ไทยกระจายรายได้ 50 ปี “ล้มเหลวสิ้นเชิง” ช่องว่างรวย-จน ห่าง 8 เท่า

บรรยง พงษ์พานิช
บรรยง พงษ์พานิช

“บรรยง พงษ์พานิช” ชวนมองย้อนอดีต 50 ปี ชี้พัฒนาการประเทศไทยในมิติ “มั่งคั่ง-ยั่งยืน-ทั่วถึง” ไปไม่ถึงไหน ถูกประเทศอื่นแซงแทบทุกมิติ ลั่นจำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนกำหนดอนาคตให้เศรษฐกิจไทยมีที่ยืน

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนา ‘THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี’ ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังรุมล้อมประเทศไทย ไม่ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางการเมือง หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ

หากมีการตั้งคำถามต่ออดีตด้วยความมุ่งหมายที่จะหาเส้นทางสำหรับอนาคต คำถามสำคัญที่ต้องถามก็คือ สำหรับเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนาประเทศที่อาจรวบยอดด้วยคำสำคัญ 3 คำ ว่า มั่งคั่ง ยั่งยืน และทั่วถึง พัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา คืบหน้าในเป้าหมายเหล่านี้ไปได้เพียงใด

ซึ่งตนมองว่า ในมิติของความมั่งคั่งนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่มีนิยามคำนี้ตั้งแต่กว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งวันนี้ก็ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ โดยไทยตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นในปีเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์จัดตั้ง Economic Development Board ที่มีเป้าหมายเหมือนกัน ในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญ ดังนั้นถือว่าไทยกับสิงคโปร์มีจุดเริ่มต้นที่พอ ๆกัน

“แต่มาวันนี้สิงคโปร์มีรายได้ต่อคนต่อหัวต่อปี 54,920 เหรียญ ขณะที่ไทยมีรายได้ต่อคนต่อหัวต่อปีแค่ 7,040 เหรียญ ห่างกัน 8 เท่าตัว และ หากมองไปในปี 2522 ซึ่งเป็นปีที่นายเติ้ง เสี่ยว ผิง ประกาศนโยบายเศรษฐกิจจีนใหม่ ตอนนั้นจีนมีรายได้ต่อคนต่อปีไม่ถึง 1 ใน 3 ของประเทศไทย แต่ตั้งแต่ปี 2554 เขาก็ได้แซงเราไป

ดังนั้น ไทยในทุกวันนี้ เจริญในแบบที่คนรุ่นปู่รุ่นทวด จะไม่มีวันจินตนาการออก แต่ในมุมที่มองกว้าง ครอบคลุมถึงเพื่อนบ้านข้างเคียง และมองยาวกินเวลาเป็นหลักกึ่งศตวรรษ ไทยต้องตระหนักว่า ต้องเร่งฝีเท้าให้มากกว่านี้ หากยังต้องการจะมีที่ยืนแบบสมศักยภาพในวันข้างหน้า” นายบรรยงกล่าว

ขณะที่มิติด้านความทั่วถึง ถือได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะหากวัดการกระจายรายได้ต่อคนต่อปี โดยการนำรายได้ของคน 20% ที่รวยที่สุด มาหารด้วยรายได้ของคน 20% ที่จนที่สุด จะพบว่า สัดส่วนการกระจายรายได้ของไทยคงที่มาตลอดเกือบ 30 ปี คือ ห่างกันที่ 7-8 เท่าตัว ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว อัตราส่วนตรงนี้จะอยู่ที่ 4-5 เท่าตัวเท่านั้น บางประเทศอยู่ที่ 3 เท่าก็ยังมี

“จำนวนเท่าของรายได้ที่ห่างกัน ยังไม่ใช่ความตกต่ำในตัว เท่ากับประเด็นที่ว่าหากเราถือว่า รายได้คือตัวแทนของผลผลิตของประชากรคนหนึ่ง ๆ การที่คนส่วนบนสามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่าคนข้างล่างถึง 8 เท่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรา ถ้าไม่ได้แปลว่าคนส่วนบนมีอัจฉริยภาพที่เหนือกว่าโดยกำเนิด หรือคนข้างล่างงอมืองอเท้าอยู่เป็นปกติ ก็แปลได้ว่า องค์ประกอบของสังคมเราที่อำนวยให้คน ๆหนึ่งสร้างผลผลิตได้ นอกเหนือจากสมอง และสองมือสองเท้าของเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากรอื่น ๆก็ตาม แตกต่างกันอยู่ถึง 8 เท่าตัว ซึ่งต้องเรียกว่า ล้มเหลวในมิติของความทั่วถึงอย่างสิ้นเชิง” นายบรรยงกล่าว

สุดท้าย มิติความยั่งยืน ซึ่งมิตินี้จะเป็นผลสืบเนื่องมาจาก 2 มิติแรก กล่าวคือ หากทั่วถึงโดยไม่มั่งคั่ง ก็ไม่น่าจะยั่งยืน หรือหากมั่งคั่งโดยไม่ทั่วถึง ช้าเร็วก็จะไม่ยั่งยืนเช่นกัน ดังนั้น หาก 2 มิติแรกยังมีปัญหา ก็เป็นไปโดยสภาพอยู่แล้ว ที่เป้าหมายด้านความยั่งยืนจะต้องร่นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม หากจะยกตัวอย่างเฉพาะเรื่อง ประเทศไทยก็ยังมีข้อดีในเรื่องความยั่งยืน คือ สินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าปฐมภูมิ รองรับความผันผวนได้ดีกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญ สามารถผลิตได้เองในประเทศนี้ทั้งหมด สินค้าส่งออกก็มีความหลากหลาย

“สถานการณ์ในระยะหลัง ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า แม้ด้วยความยั่งยืนพื้น ๆ อย่างนี้ หากมีแรงกระทบจากภายนอกที่ยิ่งใหญ่พอ ก็อาจจะกระเทือนเราอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เราเคยถือว่าเป็นของตาย กลับดิ้นได้ และ หายไป ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่หายไปจากการแพร่ระบาดของโควิด ตลาดการส่งออกที่อาจถูกบีบคั้นจากการแบ่งขั้วครั้งใหม่ หรือสินค้าที่เราผลิตได้ ถึงวันตกยุค ทั้งด้วยเทคโนโลยี หรือเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม” นายบรรยงกล่าว

นายบรรยง กล่าวด้วยว่า ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยคีเวิร์ดน่าตื่นเต้น อย่างเมตาเวิร์ส, บล็อกเชน, Artificial intelligence, Internet of things, คริปโตเคอร์เรนซี ต้องดูว่าเมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่จะให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า เทคโนโลยีที่เพิ่งมีในวันนี้ ไม่ใช่เทคโนโลยีที่มีอยู่เมื่อวาน หรือพูดได้ว่าไม่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่มองในมุมกลับ สิ่งที่มีอยู่วันนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งใดเลย นอกจากการดำเนินต่อเนื่องมาจากสิ่งที่มีอยู่ในวันวาน

“ด้วยเหตุนี้การศึกษาประวัติศาสตร์ในแบบที่มีความหมายที่สุด จึงเป็นมากกว่าเพียงการศึกษาอดีตที่จบไปแล้ว แต่เป็นการทำความเข้าใจตัวเราในวันนี้ บนแกนของกาลเวลาที่กำลังมุ่งไปสู่อนาคต ว่าเราคลี่คลายหรือล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไร มีสิ่งใดที่เป็นศักยภาพและข้อจำกัด

โดยหากเราศึกษาอดีตได้ดี ก็น่าเชื่อว่าอนาคตของเราจะได้ประโยชน์ และเป็นไปในแนวทางที่ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้น ในทางกลับกัน การทิ้งอดีตให้สูญหาย และไม่ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ คงทำให้ช่วงเวลาที่เราทุกคนกำลังเรียนรู้ ที่เรากำลังดำรงอยู่ เป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่า หรือแย่กว่านั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตกต่ำ” นายบรรยงกล่าว