บรรยงหนุนกระจายอำนาจ ปลดล็อกความเจริญที่ต่ำเตี้ย

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

บรรยงหนุนแคมเปญขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า เพิ่มโอกาสแข่งขัน ลดคอร์รัปชั่น เตือนต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะทำให้ผู้มีอำนาจส่วนกลางเสียประโยชน์

วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่อาคารอนาคตใหม่ ในการเปิดตัวแคมเปญแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ของคณะก้าวหน้า นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวบรรยายหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับการยกเครื่องทางเศรษฐกิจ” ว่า ตนคิดว่าแคมเปญนี้มีความสำคัญมากในการพลิกฟื้นและปรับโฉมประเทศไทยโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ

แม้ตนไม่ได้สังกัดกลุ่มการเมืองใด แต่ยินดีสนับสนุนในเรื่องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ โดยขอเป็นอย่างน้อยหนึ่งในห้าหมื่นชื่อที่จะสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 ซึ่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเดิมมีเนื้อหาที่ทั้งไม่พอเพียง และไม่มีผลในทางปฏิบัติ ไม่มีเงื่อนเวลา ไม่เกิดผลใด ๆ

ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้าน การกระจายอำนาจจะเป็นยาขนานสำคัญในการแก้ไข เช่น เป้าหมายทางเศรษฐกิจ ต้องมั่งคั่ง ทั่วถึง ยั่งยืน แต่ประเทศไทยปัจจุบันเจอปัญหาเยอะมากเรื่องความทั่วถึง เราเติบโตแบบกระจุก รวยกระจุกจนกระจาย เรื่องความยั่งยืนไม่ต้องพูดถึง

ปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกระเตื้อง แต่อัตราการฟื้นตัวของไทยต่ำมาก เราเจอปัญหาข้าวของแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูง เจอภาวะ Stagflation เงินเฟ้อสูง แต่การเติบโตไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นรัฐข้าราชการ ข้าราชการในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลางถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภูมิภาค  ร้อยละ 21

Advertisment

ขณะที่ข้าราชการท้องถิ่นมี 200,000 คน หรือแค่ 18 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างจากญี่ปุ่นที่มีประชากรมากกว่าไทย แต่มีข้าราชการส่วนกลางเพียง 500,000 คน และมีข้าราชการท้องถิ่นถึง 2,500,000 คน ดังนั้น ประโยชน์ของการกระจายอำนาจ มีทั้งเพิ่มความหลากหลาย เพิ่มการแข่งขัน เพิ่มโอกาสในการทดลองเปลี่ยนแปลง กำลังเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้าถึงทรัพยากรและพัฒนาศักยภาพพื้นที่ของเขา

ปลดล็อกอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำเตี้ยของไทย และที่สำคัญคือเพิ่มการตรวจสอบ ลดปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะเมื่อคนในท้องถิ่นรู้ว่าทรัพยากรเป็นของท้องถิ่น จะเกิดแรงจูงใจในการติดตามดูแล แตกต่างจากส่วนกลางที่คนอาจไม่รู้สึกว่าสำคัญ

“ต้องยอมรับว่าในการปฏิรูปทุกครั้งต้องมีผู้เสียประโยชน์ ถ้าเกิดการกระจายอำนาจ คนที่เสียแน่นอนคือคนที่กุมอำนาจที่ส่วนกลาง ดังนั้น ต้องทำเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและด้วยความเข้าใจ ทำอย่างไรให้ผู้สูญเสียยอมรับหรือไม่มีโอกาสปฏิเสธ” นายบรรยงกล่าว

นายบรรยงกล่าวว่า ส่วนความกังวลว่าการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การทุจริต ในระยะต้นยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะทำให้เกิดมาตรฐานที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่สาเหตุที่เรารู้สึกว่าการทุจริตมีมาก เพราะท้องถิ่นอยู่ในที่สว่างและเรามองเห็น แต่ต้องไม่ลืมว่าการทุจริตที่เรามองไม่เห็นมีอีกเยอะ โดยเฉพาะการโกงในลักษณะเอื้อประโยชน์ กำจัดการแข่งขัน ล็อกสเป็ก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ส่วนกลาง

Advertisment

ดังนั้น แม้มีบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีปัญหา แต่ อปท.ที่ดีก็มีเยอะ ต้องยกพวกเขาขึ้นมาให้ประชาชนรู้ เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบและให้ประชาชนสร้างแรงกดดัน ตนเชื่อในพลังของประชาชน ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจในวงกว้าง จะยิ่งส่งผลดีต่อการผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ

นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มีเรื่องกระจายอำนาจเลย ดังนั้น ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนขอให้ช่วยเอาเรื่องนี้ออกไปด้วย