การปรับตัวลงของ “ทองคำ” เดือนกรกฎาคมคาดเริ่มมีกรอบจำกัด

ทองคำ
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ราคาทองคำ spot เดือนมิถุนายนยังคงเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากความกังวลว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยทำให้มีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นคริปโตเคอร์เรนซี และมีเม็ดเงินไหลเข้าทองคำ ทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องทำจุดสูงสุดที่ 1,878 ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ทองคำถูกแรงเทขายอย่างหนักหลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 8.6% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 41 ปี และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 8.3% ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายน ทำให้ราคาทองคำปรับลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือนที่ 1,804 ดอลลาร์

สำหรับการประชุมเฟดล่าสุดเมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพื่อสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับที่สูง

ตารางการเคลื่อนไหวราคาทอง

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด 0.75% เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในรอบ 28 ปี สะท้อนให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังอยู่ในระดับที่สูง

สำหรับ dot plot หรือประมาณการอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ถึงแม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการเมื่อเดือนมีนาคมอย่างมาก ที่เฟดประมาณการไว้ที่ 1.75-2% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาและราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบแคบ

แนวโน้มราคาทองคำ spot เดือนกรกฎาคม คาดจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,800-1,870 ดอลลาร์ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนกรกฎาคมยังอยู่ที่การประชุมเฟด ที่กำหนดในวันที่ 26-27 กรกฎาคม และคำถามของนักลงทุนทั่วโลกว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอยหรือไม่

สำหรับการประชุมเฟดรอบนี้ คาดเฟดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ต่อไป สู่ระดับ 2.25-2.50% ทั้งนี้ การปรับตัวลงของทองคำเดือนกรกฎาคมคาดเริ่มมีกรอบจำกัด ถึงแม้เฟดจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ส่วนคำถามที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอยหรือไม่ ที่อาจจะเป็นปัจจัยบวกต่อทองคำในระยะยาว เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอดีตที่ผ่านมากว่า 60 ปี สิ่งที่ตามมาคือ เศรษฐกิจสหรัฐโดยส่วนใหญ่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด 8 ครั้ง ใน 11 ครั้ง เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย มีเพียง 3 ครั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง (soft landing)

สำหรับการแถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด เมื่อคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสตั้งคำถามว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปและรวดเร็วเกินไปนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

ซึ่งประธานเฟดตอบว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะถดถอย ทั้งที่กังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอย แต่เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสกัดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลง ทำให้ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน ทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน แตะ 35.51 บาท/ดอลลาร์

โดยเดือนนี้อ่อนค่าราว 1.20 บาท ทำให้เป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองแท่งในประเทศ แนวโน้มเงินบาทในเดือนกรกฎาคมคาดจะยังอ่อนค่าลงได้ต่อ แต่คาดไม่มากเท่าในเดือนมิถุนายน

ปัจจัยหลักที่กระทบต่อเงินบาท คือ เงินดอลลาร์ เม็ดเงิน fund flow จากต่างประเทศที่ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย