เงินบาทอ่อนค่า 35.80 บาทต่อดอลลาร์ จับตารายงานประชุมเฟด-อีซีบี

เงินบาทอ่อนค่า 35.80 บาทต่อดอลลาร์ จับตารายงานประชุมเฟด-อีซีบี
European Central Bank/­Handout via REUTERS/File Photo

ธนาคารกรุงไทย ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวระดับ 35.30-35.80 บาทต่อดอลลาร์ จับตารายงานประชุม “เฟด-อีซีบี” พร้อมตัวเลขเงินเฟ้อ-ตลาดแรงงานสหรัฐฯ คาดสกุลดอลลาร์แข็งค่า ช่วยพยุงบาทไม่อ่อนค่าแรง

วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 4-8 กรกฎาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.30-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขรายงานเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ หากตัวเลขออกมาแตะ 8% ตลาดจะมีคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะมีนัดประชุมพิเศษได้

นอกจากนี้ จะมีรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งตลาดจะรอดูมุมมองของคณะกรรมการฯ ต่อทิศทางการปรับขึ้นของดอกเบี้ยจะเร่งขึ้นหรือไม่ และมีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มากน้อยขนาดไหน รวมถึงจะมีเจ้าหน้าที่เฟดแถลงการณ์ด้วย

ขณะเดียวตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม ทั้งดัชนีภาคการผลิต PMI ซึ่งหากออกมาไม่ดี จะยิ่งทำให้ตลาดกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงตลาดแรงงาน ทั้งอัตราการจ้างงาน อัตราการว่างงานนอกภาคเกษตร (Non Farm payroll) ซึ่งตัวเลขออกมาแย่ลง

ตลาดจะคาดการณ์ว่าเฟดไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นจังหวะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาเล็กน้อยได้ พยุงบาทไม่ให้อ่อนค่าหลุดกรอบได้ รวมถึงรายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ภาพตลาดจะรอดูคล้ายเฟด คือ การเร่งขึ้นดอกเบี้ย และภาพเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่

“หากเงินเฟ้อเฟดออกมามากกว่า 8% ตลาดคาดว่าจะมีนัดประชุมพิเศษ และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) เด้งขึ้นได้ ซึ่งอาจมีฟันด์โฟลว์เข้าบอนด์ได้ หรือตลาดแรงงานสหรัฐฯ แย่จะเป็นจังหวะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาเล็กน้อยได้ ซึ่งช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าหลุดกรอบได้แนวต้านที่เรามองไว้ 35.75-35.80 บาทต่อดอลลาร์ได้”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 65) จะเห็นตลาดค่อนข้างผันผวน โดยตลาดหุ้นมียอดซื้อสุทธิ 2,495 ล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) เดิมคาดจะเป็นขายสุทธิ แต่กลับเป็นทิศทางไหลเข้าซื้อสุทธิราว 389 ล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทขยับอ่อนค่า

ส่วนทิศทางสัปดาห์หน้า มองว่า ในช่วงต้นสัปดาห์อาจจะเห็นแรงเทขายทำกำไร (Take Profit) จากราคาทองคำที่ขึ้นไปแตะระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ตลาดบอนด์ยังมองเป็นขายสุทธิ แต่โดยรวมแรงเทขายหรือแรงซื้อจะไม่เยอะมาก