รองผู้ว่าฯ ศานนท์ชูสร้าง กทม.ให้เป็นเมืองที่ผู้คนรู้สึกเป็นเจ้าของ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

รองผู้ว่าฯศานนท์ ชูการมีส่วนร่วม การแสดงออก และความสนุก คือหัวใจหลักที่คนรุ่นใหม่ต้องการ และ กทม.จะปรับเปลี่ยน เดินหน้าเพื่อพัฒนาเมืองในอนาคต ในการปาฐกถา 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสร่วมปาฐกถาในงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ ในหัวข้อ “จินตนาการสร้างสังคมสุขภาวะของคนรุ่นใหม่” ว่า

“ท่านผู้ว่าฯได้พูดเสมอว่า หากพูดถึงเมืองไม่ได้หมายถึงสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ แต่หมายถึงผู้คน หัวใจของการพัฒนาเมืองคือการทำอย่างไรให้คนได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ มีความหวัง และรู้สึกว่าเมืองนี้เป็นของเขา ปัจจุบันจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเมืองไม่ใช่ของเขาแล้ว และไม่ได้อยากที่จะอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว ความท้าทายที่สำคัญคือการดูแลผู้คน ทำอย่างไรให้คนรู้สึกอยากมีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของเมือง”

ขอบคุณผู้ว่าฯที่ให้โอกาสได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งหลายคนอาจเห็นว่าควรจะมีอาวุโสมากกว่านี้ แต่จริง ๆ แล้วคนรุ่นใหม่ก็สามารถมีความคิดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ในปัจจุบัน บางเรื่องเด็กเป็นผู้ใหญ่ได้ดีกว่า เช่น เรื่องของโลกออนไลน์และโลกดิจิทัล ภารกิจสำคัญด้านการศึกษาของ กทม. คือการทำให้คนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ ทั้งนี้ หากได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่พบว่าคนรุ่นใหม่มักจะพูด 3 เรื่อง คือ การมีส่วนร่วม การแสดงออก และความสนุก ซึ่งเป็น Keyword สำคัญที่ต้องมาดูว่าขณะนี้เป็นแบบนั้นหรือไม่ อาจเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ยังไม่เปิดกว้าง ทำให้การมีส่วนร่วมยังไม่มีในสังคมปัจจุบัน และยังคงเป็นในลักษณะผู้ใหญ่คิดและเด็กรับทำ

แต่ สช.ได้เปิดกว้างมากกว่านั้น และเปิดกว้างมาอย่างยาวนาน ในส่วนของเรื่องการแสดงออกพบว่ามีระเบียบที่ทำให้การแสดงออกทำได้ยาก ซึ่งเห็นว่าการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่ที่เปิดกว้างกว่านี้ ประกอบกับกิจกรรมไม่น่าสนใจ ไม่สนุก จึงควรทำให้กิจกรรมมีความสนุกและทำให้เด็กอยากเข้าร่วมมากขึ้น การจินตนาการว่าคนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองอย่างไรจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึง 3 ส่วนนี้

Advertisment

หากวิเคราะห์แล้วโครงสร้างการบริหารในปัจจุบัน จะเป็นลักษณะ Top down คือแบบ Traditional Leadership จึงควรเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบ Servant Leadership เพื่อให้ผู้นำได้ลงไปหาปัญหาและมีส่วนร่วมกับผู้ปฏิบัติงาน จะต้องนำมาดำเนินการ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนวงประชุม ออกแบบใหม่ให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนมากขึ้นเพื่อสร้าง Empower citizen ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากทำได้จะทำให้ทุกส่วนสามารถมาร่วมและจินตนาการร่วมกันเพื่อสร้างเมืองน่าอยู่ได้

จากนั้นนายศานนท์ได้กล่าวถึงนโยบายของกรุงเทพมหานคร ในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมว่า อีกหัวใจหนึ่งคือการเปิดเผยข้อมูล คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการการมีส่วนร่วมเท่านั้น การเปิดเผยข้อมูล Open Data เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบ เพื่อความโปร่งใส ทั้งนี้ กทม.จะได้มีการเปิดเผยข้อมูลในมิติอื่นด้วย จากการสำรวจพบว่ามีชุดข้อมูลที่คนอยากรู้ 416 เรื่อง แต่ กทม.เปิดเพียง 193 เรื่อง ซึ่งต่อไปก็ดำเนินการให้มากขึ้น

เมื่อเปิดเผยข้อมูลแล้ว กทม.ก็จัดงาน Hack BKK เพื่อให้ทีมคนรุ่นใหม่ร่วมเสนอ Solution ในการแก้ไขปัญหาเมือง 19 ปัญหา และ กทม.จะได้นำมาใช้ 5 Solution ถือว่าไม่ได้เป็นแค่มิติแค่เปิดเผยข้อมูล แต่ยังชวนคนให้มาร่วมทำด้วย ในส่วนของการเปิด Traffy Fondue ก็พบว่าสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มาก เนื่องจากมีการตอบสนองโดยทันที ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องร้องเรียนแต่ยังทำให้ผู้บริหารสามารถประเมินศักยภาพของเขตได้ด้วย ลงลึกถึงระดับฝ่าย ซึ่งประชาชนจะเห็นการทำงานทั้งกระบวนการ ตรงตามความร่วมมือ

เยาวชนไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าพื้นที่ เพื่อให้เขาได้แสดงออก อาทิ การจัดแสดงดนตรีในสวน การจัดให้มีพื้นที่เรียนรู้ เพื่อผ่อนคลายและพัฒนาศักยภาพตัวเอง ซึ่ง กทม.จะพยายามให้เกิดให้ได้มากที่สุด และกระจายให้มาก โดยตั้งเป้าให้ทุกเขตมีพื้นที่เรียนรู้ของตนเอง นอกจากนี้ กทม.ยังมีการจัดเทศกาลในทุกเดือน โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง BKK Ranger ได้รับเสียงตอบรับจากเด็กค่อนข้างดี การเปิด Saturday School เพื่อเป็น Active Learning สร้างหลักสูตรที่เด็กสนใจ สุดท้ายคือนำมาปรับให้เข้ากับหลักสูตรหลักที่สอนในวันจันทร์ถึงศุกร์ การประกาศสิทธิของเด็กในโรงเรียนอย่างชัดเจนก็เป็นเรื่องที่กทม.ได้ทำ

Advertisment

คนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเขาจะเป็นคนที่ใช้เมืองนี้ในอีก 10 ปี 20 ปี 30 ปีจากนี้ ในอนาคตจึงจะจัดตั้งสภาคนรุ่นใหม่และสามารถเชิญผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุย โดยเด็กได้เตรียมพร้อมหัวข้อเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังจะจัดทำ Pubilc Space Platform เพื่อทำให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ในส่วนของเรื่องการปลูกต้นไม้ก็สอดคล้องกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่คือปลูกวันนี้แต่ไม่ได้ใช้ในวันนี้ เป็นการใช้งานในวันหน้า กทม.จึงจะจัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมทะเบียนของต้นไม้ทั้งหมด ผ่านทาง Tomorrow Tree/Today Tree การเปิดรับอาสาสมัครเทคโนโลยี Technology Volunteers อยู่ระหว่างการรับสมัคร เพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนในชุมชน

“Education กับ Learning มีความสอดคล้องและต้องมีการปรับเปลี่ยนไป ทำอย่างไรจะเปลี่ยน Education ไปสู่ Learning ได้ เนื่องจาก Education คือการสร้างหลักสูตรให้เด็กมาเรียน แต่ Learning คือการให้เด็กได้เรียนรู้เอง ซึ่งการทำเรื่องคนรุ่นใหม่แยกออกจากการทำเรื่องการศึกษา หรือความเหลื่อมล้ำไม่ได้ การจะพัฒนาคนเพียงหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางครอบครัว ความมั่นคงทางอาหาร ความพร้อมและปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความปลอดภัยในการเดินทางและความพร้อมของชุมชน ท้องถิ่นในการสนับสนุนการศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้” นายศานนท์กล่าว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย 40 องค์กรจัดขึ้น เพื่อนำผลงานตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม มานำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยกำหนดจัดในรูปแบบ Hybrid Meeting กิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการนำเสนอผลงานของภาคีเครือข่าย เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม กระบวนการนโยบายสาธารณะ รวมทั้งทิศทางและโอกาสในการทำงานในอนาคต สำหรับผู้สนใจสามารถร่วมรับชมกิจกรรมของงานผ่านการถ่ายทอดสด Live  เพจ “สช.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ”