เผยภาพ เสือไฟ สัตว์ป่าหายาก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

ภาพ: จิราวรรณ คล้ายทอง

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยภาพ เสือไฟ สัตว์ป่าหายาก อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพ “เสือไฟ” หนึ่งในสัตว์ป่าหายาก ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยภาพที่นำมาโพสต์ ถ่ายโดย คุณจิราวรรณ คล้ายทอง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมอบภาพให้กับเขตฯ เพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ

สำหรับเสือไฟ (Asiatic Golden Cat) อยู่ในอันดับ (Order): Carnivora วงศ์ (Family) : Felidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Catopuma temminckii มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์(IUCN) จัดอยู่ในหมวด NT หรือ ใกล้ถูกคุกคาม

เสือไฟเป็นเสือขนาดกลาง มีรูปร่างบึกบึน ขาค่อนข้างยาว ลำตัวสีเรียบ มีลวดลายน้อย มีสีพื้นน้ำตาลแดงจนถึงแดงอย่างเก้ง บางตัวอาจมีสีดำ หรือน้ำตาล หรือเทา มีเสือไฟดำแบบเมลานิซึมบ้างแต่พบได้น้อย
ลักษณะเด่น บริเวณใบหน้าที่มีแถบสีขาวเหนือตา และแก้ม หางยาวปลายหางด้านล่างมีสีขาวตลอด ท้องและใต้หางมีสีขาว

เสือไฟ หากินเวลากลางคืน เป็นสัตว์ที่ ปีนต้นไม้เก่ง แต่ชอบอยู่บนพื้นดินมากกว่า เวลาเดินจะยกหางขึ้นสูง ล่าเหยื่อหลายชนิด ตั้งแต่สัตว์จำพวกหนู นก กระต่ายป่า สัตว์เลื้อยคลาน แมลง นอกจากนี้ก็อาจล่าสัตว์ใหญ่กว่าตัวเองได้ด้วย เช่น เก้ง กวางป่าและหมูป่า

พบอาศัยอยู่ตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ มีระยะเวลาในการตั้งท้องประมาณ 100 วัน ออกลูกครั้งละ 1 – 2 ตัวเพียงเท่านั้น น้ำหนักตัวประมาณ 12-15 กิโลกรัม

เสือไฟประสบปัญหาถูกคุกคามจากภัยหลายด้าน ภัยที่ร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และรองลงมาคือการล่าเพื่อเอาหนังและกระดูก บางครั้งเสือไฟก็ถูกชาวบ้านฆ่าตายเมื่อไปจับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มกิน ด้วยเหตุนี้ไซเตสจึงจัดเสือไฟไว้ในบัญชีหมายเลข 1