สธ.เฝ้าระวัง ‘พิษสุนัขบ้า’ ในคน ยันตาย 6 ราย ย้ำถูกสุนัข-แมวกัด/ข่วน ล้างแผล ฉีดวัคซีนด่วน!

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามนโยบายของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้เฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น เต็มที่ และทันทีที่พบว่ามีการระบาด รวมถึงขอให้สร้างความมั่นใจกับประชาชนและขอให้ประชาชนช่วยกันดำเนินการป้องกันในเรื่องนี้ร่วมกับภาครัฐ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–วันที่ 19 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ที่ จ.สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเกิดซ้ำในพื้นที่ที่พบเคยผู้ป่วย โดยเป็นผลมาจากความร่วมมือของทั้งหน่วยงานปศุสัตว์ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสาธารณสุข ทั้งนี้ พบว่าผู้เสียชีวิตทุกรายชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อ และขาดความตระหนักเพราะเห็นเป็นแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนข้อมูลประชาชนที่ถูกสัตว์กัดและเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านั้น พบว่าในแต่ละปีมีประมาณ 3 แสนราย โดยในปี 2560 มีจำนวน 281,849 ราย เฉลี่ย 772 ราย/วัน และในปี 2561 (ต้นปี-ปัจจุบัน) จำนวน 63,112 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (3 เดือนต้นปี 60 จำนวน 69,999 ราย) จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแม้ในช่วงนี้จะมีรายงานการพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในหลายพื้นที่ แต่จำนวนผู้สัมผัสและเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก็ไม่ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

“กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่า หากถูกสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง” นพ.สุวรรณชัยกล่าว และว่า ในส่วนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้น พบว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการนำเข้าวัคซีนดังกล่าวมากกว่าจำนวนที่ใช้จริงในประเทศไทย และวัคซีนได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างรอบคอบ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนที่ใช้ในประเทศไทย มีจำนวนเพียงพอและได้มาตรฐาน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องดังกล่าวนี้ ปัจจุบันได้ดำเนินการและปฎิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นแนวทางที่ออกโดย สธ. และมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันหารือและกำหนดแนวทางฯ ดังกล่าวนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

ที่มา มติชนออนไลน์