สธ.นัดหารือ 19 เม.ย. กำหนดขอบเขตการศึกษา ‘กัญชา’ รักษาโรค

ความคืบหน้าภายหลัง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมตั้งคณะทำงานวิชาการด้านกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยประสาน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เป็นประธานคณะทำงานดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิจัยพัฒนาสารสกัดกัญชารักษาโรคทางสมอง ทั้งลมชัก พาร์กินสัน และโรคมะเร็งระยะสุดท้ายนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่  6 เมษายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ตนได้รับการประสาน เพื่อมาร่วมกันกับทางกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลวิชาการ และร่วมศึกษาวิจัยว่า สารสกัดจากกัญชาสามารถนำมาใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง เบื้องต้นจะมีโรคทางสมอง อย่างลมชัก พาร์กินสัน รวมไปถึงลดอาการปวดของโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งในวันที่ 19 เมษายนนี้ จะมีการหารือกลุ่มย่อยกันที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อหารือถึงขอบเขตการทำงานมุ่งเน้นทางด้านวิชาการ ส่วนเรื่องข้อกฎหมายที่ยังไม่อนุญาตให้มีการวิจัยในมนุษย์ หรือข้อกฎหมายต่างๆนั้น ทราบว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งอยู่คนละส่วนกับตน

ผู้สื่อข่าวถามว่าในอนาคตกัญชาจะมาแทนมอร์ฟีนได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ แต่กัญชามีผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีน ทั้งที่มอร์ฟีนจัดเป็นสิ่งเสพติดเช่นกัน โดยมอร์ฟีนแม้จะลดการเจ็บปวด แต่หากใช้มากเกินไปก็อันตราย อาจโคม่า ความดันตก ไม่หายใจ อย่างไรก็ตาม รอให้มีการประชุมก่อนน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ก็มองว่าสารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่านั้น ทั้งโรคสมองเสื่อม อาการปวดรุนแรง ฯลฯ

 

ที่มา  มติชนออนไลน์