หมอธีระวัฒน์ เผยเหตุผล ทำไมต้องทำลายเชื้อไวรัสจากค้างคาว-สัตว์ป่า

หมอธีระวัฒน์ ทำลายเชื้อไวรัส

“หมอธีระวัฒน์” เปิดเผยเหตุผล ทำไมต้องทำลายเชื้อไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่า ทั้งที่ได้รับทุนสนับสนุนกว่า 300 ล้านบาท

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 จากกรณีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากการทำลายตัวอย่างโดยไม่ขออนุญาตนั้น

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ทั้ง ๆ ที่ได้รับทุนจากสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึง 2563 มากกว่า 300 ล้านบาท ทำไมเราถึงเลิกและยุติการค้นหาไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่า

คำตอบสั้น ๆ เข้าใจง่าย พิสูจน์ได้ว่าไม่เกิดประโยชน์ อันตรายรอบตัวที่เกิดขึ้นได้ จากการสัมผัสกับสัตว์นำสิ่งคัดหลั่งกลับมาห้องปฏิบัติการ โอกาสนำไปสู่การติดเชื้อในมนุษย์และแพร่ออกไปยังชุมชน”

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้การต่อคณะกรรมการสอบสวน กรณีที่ศูนย์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ ยุติการศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาว ระบุว่า หลังจากที่เราทำลายตัวอย่างเหล่านี้หมด ก็ยังมีการติดต่อมาขอตัวอย่าง ทำให้เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการเอาตัวอย่างไปศึกษาต่อ หรือส่งต่อไปต่างประเทศหรือไม่

ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้วเกิดการระบาดในต่างประเทศ แล้วมีการสืบสวนมาว่าเชื้อนั้นมาจากประเทศไทย ก็จะทำให้ประเทศเราตกเป็นผู้ต้องหาและต้องรับผิดชอบต่อการเกิดโรคระบาดครั้งใหม่