6 วันสงกรานต์ เสียชีวิตแล้ว 378 ราย พบโคราชยอดตายสะสมสูงสุด

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.ท.ธเนศ กาลพฤกษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย. เป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยเกิดอุบัติเหตุ 425 ครั้ง เสียชีวิต 49 ราย ผู้บาดเจ็บ 464 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 28.47 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 27.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.00 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.76 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.82 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น.ร้อยละ 23.53 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28.07

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สมุทรปราการ และพิษณุโลก 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 17 คน

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (11-16 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 3,418 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 378 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,575 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม หนองคายและหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 126 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 19 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 136 คน

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,031 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,226 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 856,446 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 176,415 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 49,866 ราย ไม่มีใบขับขี่ 46,067 ราย

พล.ท.ธเนศ กล่าวอีกว่า วันนี้ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังคงเดินทางกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เน้นย้ำให้ ศปถ. ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนทุกเส้นทางอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอำเภอที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง (พื้นที่สีแดงและสีส้ม) นำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงเวลาปกติและเทศกาล เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนที่มีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียได้มากที่สุด

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์