เปิดรายชื่อ 10 จังหวัดภาคอีสานอ่วมพิษฝุ่น PM 2.5 รุนแรง เกิน 100 ไมโครกรัมวันนี้

ฝุ่น PM 2.5
แฟ้มภาพ

GISTDA รายงานสรุป 10 จังหวัดภาคอีสานอ่วมพิษฝุ่น PM 2.5 รุนแรง เกิน 100 ไมโครกรัม วันที่ 2 ก.พ. 2567

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 พบ 10 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ

ได้แก่ อำนาจเจริญ 114 ไมโครกรัม มุกดาหาร 109.4 ไมโครกรัม ยโสธร 107.5 ไมโครกรัม ร้อยเอ็ด 104 ไมโครกรัม อุบลราชธานี 100.5 ไมโครกรัม กาฬสินธุ์ 96.2 ไมโครกรัม นครพนม 90.9 ไมโครกรัม มหาสารคาม 83.9 ไมโครกรัม ศรีสะเกษ 83.8 ไมโครกรัม และสุรินทร์ 75.6 ไมโครกรัม

ในขณะที่อีก 13 จังหวัดอยู่ในระดับสีส้มที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ

ส่วนกรุงเทพมหานคร ระดับค่าฝุ่น PM 2.5 ดีอยู่ในโซนสีเขียวกับสีฟ้าทุกเขต แสดงถึงค่าคุณภาพอากาศดีถึงดีมาก

Advertisment

ในขณะที่วานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567) จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 203 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่เกษตร 69 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 51 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 32 จุด ชุมชนและอื่น ๆ 29 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 21 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 1 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก #ชัยภูมิ 22 จุด #เชียงราย 19 จุด และ #นครสวรรค์ 12 จุด

ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่กัมพูชา 625 จุด ตามด้วยพม่า 592 จุด ลาว 170 จุด และเวียดนาม 164 จุด

ทั้งนี้ จุดความร้อนรายประเทศสะสมตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงปัจจุบัน พบว่ากัมพูชามีจุดความร้อนสะสมทั้งสิ้น 56,825 จุด ตามด้วยพม่า 16,603 จุด ไทย 14,641 จุด เวียดนาม 8,180 จุด และลาว 6,079 จุด

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือ การสำรวจ วิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

Advertisment

แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับสีส้มและสีแดงต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial Intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM 2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น”