มั่นใจ! กทม. ยันรับมือฝนตกหนักได้ ฟิตพร้อมระบบระบายน้ำ-เครื่องมือป้องกันน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจายในหลายพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาทิ เขตประเวศ เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง เขตหนองจอก เขตดอนเมือง เขตลาดพร้าว เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตคลองสามวา เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตหนองแขม เขตบางแค ต่อเนื่องไปยัง อ.เมือง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ อ.ลำลูกกา อ.ธัญบุรี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ อ.เมือง จ.นนทบุรี ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานว่าปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา 72 มิลลิเมตร (มม.) มีรายงานน้ำเร่งระบายบนถนนสายหลัก 2 จุด ได้แก่ ถนนงามวงศ์วาน บริเวณแยกพงษ์เพชร และปากซอยชินเขต แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ขณะเดียวกัน ระดับน้ำพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งภายนอกและภายในคันป้องกันน้ำท่วมยังปกติ

ทั้งนี้ นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยว่า จากข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่คาดว่าช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน และขณะนี้สภาพอากาศในพื้นที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าปีนี้ฝนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ระยะที่ผ่านมาสำนักการระบายน้ำ กทม.จึงได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝนและดำเนินการตามแผนป้องกันน้ำท่วมกทม.อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ฤดูฝนเมื่อปี 2560 ประกอบด้วย การเตรียมความระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องมือและอุปกรณ์ในการป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ อาทิ การปรับปรุงระบบระบายน้ำ การดำเนินการลอกท่อระบายน้ำ ปรับปรุงสถานีสูบน้ำให้มีความพร้อม พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแก้มลิงเพื่อรองรับปริมาณน้ำจากถนนสายหลัก อุโมงค์ระบายน้ำในการระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตก อาทิ เรดาห์ตรวจวัดพื้นที่ที่ฝนกำลังตก การแจ้งเตือนประชาชนผ่านศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (เบสท์) เป็นต้น

“เนื่องจากท่อระบายน้ำมีความยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร ขณะที่อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำมีจำนวน 3,000-4,000 ราย ดังนั้น ท่อระบายน้ำในพื้นที่ชุมชนหนาแน่นและประกอบกิจการตลาด บางครั้งมักเกิดปัญหาท่อน้ำอุดตันจากกิจกรรมต่างๆ ส่วนนี้ขอความร่วมมือประชาชนร่วมเป็นหูตาเฝ้าระวังไม่ให้มีการทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลองหรือทำให้อุดตันท่อระบายน้ำ รวมถึงร่วมแจ้งข้อมูลข่าวสารไปยังสำนักการะบายน้ำ และสายด่วน กทม.1555 เพื่อแก้ไขปัญหา” นายณรงค์ กล่าว

 นอกจากนี้ นายณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างท่อขนส่งน้ำในผิวจราจรบริเวณเกาะกลางด้วยวิธีดันท่อ หรือไปป์แจ็คกิ้ง โดยการก่อสร้างบ่อใต้ดินสำหรับรองรับน้ำเวลาฝนตกและจะช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ผ่านแนวท่อจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุด ซึ่งก่อสร้างจะขุดเปิดผิวจราจรเฉพาะจุดก่อสร้างเท่านั้น ไม่ต้องเปิดพื้นที่มาก เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ชุมชนเมือง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการสร้าง อาทิ บริเวณถนนทรงสวัสดิ์-ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และบริเวณถนนสวนพลู เป็นต้น ซึ่งกทม.ได้กำชับให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่หน้าฝนช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ คาดว่าอย่างน้อย 2-3 โครงการจะสามารถใช้งานได้

วันเดียวกัน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างระบบน้ำท่วม หรือไปป์แจ็คกิ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณถนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู ว่า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการพบมีแนวท่อประปาเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,000 มิลลิเมตร (มม.) และเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 มม.กีดขวางแนวท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) และงานก่อสร้างบ่อดันท่อ เบื้องต้น สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้ประสานการประปานครหลวง (กปน.) เขตทุ่งมหาเมฆ รื้อย้ายท่อประปา แต่ไม่สามารถรื้อย้ายท่อประปาเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 1,000 มม.ได้ เพราะเป็นท่อขนาดใหญ่หากย้ายจะกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงได้ปรับลดขนาดท่อระบายน้ำให้สามารถวางท่อระบายน้ำผ่านได้ ส่วนตำแหน่งการก่อสร้างบ่อดันท่อ และบ่อรับมีแนวร้อยท่อสายโทรศัพท์ใต้ดินกีดขวาง ได้แก้ไขโดยก่อสร้างบ่อดันท่อและบ่อรับหุ้มท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน

“จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างไปป์แจ็คกิ้ง ขณะนี้อย่างน้อย 2 โครงการ สามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันหน้าฝนปีนี้ คือ บริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู และอีกบริเวณคือ ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง” นายจักกพันธุ์ กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์