จับตา “พายุไซโคลน” ลูกใหม่ กรมอุตุฯเตือนฉบับ 12 ฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน

พายุดีเปรสชันบริเวณอ่างเบงกอล คาดทวีกำลังเป็นพายุไซโคลน
ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุฯประกาศเตือน ฉบับที่ 12 ทั่วไทย รวมกทม.และปริมณฑล ฝนตกหนักถึงหนักมากเฉลี่ย 60-80%ของพื้นที่ ภาคเหนือ-ตะวันตกหนักสุด อิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลาง มีกำลังค่อนข้างแรง เสี่ยงท่วมฉับพลัน คาดพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง ทวีกำลังแรงขึ้นเป็น “พายุไซโคลน” ในวันนี้ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 12 (104/2567)

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลาง มีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 24–26 พ.ค. 67

Advertisment

อนึ่ง เมื่อเวลา 01.00 น. พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 89.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันออกด้วยความเร็วประมาณ 11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในระยะต่อไป โดยคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในวันนี้ (25/5/67) และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียและประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 26–27 พ.ค. 67

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย โดยมีพายุดีเปรสชั่นปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอล และบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย โดยมีพายุดีเปรสชั่นปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอล และบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 05.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น.

Advertisment

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์
สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร
นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15–35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร, ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร
และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และพังงา
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.